ทุพพลภาพถาวรของประกันภัย

มีคำถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยรถยนต์ ทั้งในส่วนของพนักงานของบริษัทประกันภัย และในส่วนของผู้เอาประกันภัยรวมถึงประชาชนด้วย ว่าความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับหรือ พ.ร.บ. กับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ร่างกาย และอนามัยของผู้ได้รับอันตรายจากรถที่ใช้หรืออยู่ในทางนั้น คำว่า “ทุพพลภาพถาวร” มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของภาคบังคับหรือพ.ร.บ. กับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจแล้ว ก็จะพบว่า คำอธิบายในความหมายของคำว่า “ทุพพลภาพถาวร” ของทั้งสองกรมธรรม์มีความแตกต่างกันอย่างมาก

ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับหรือ พ.ร.บ.ให้ความ หมายของคำว่า “ทุพพลภาพถาวร” ไว้ตามเงื่อนไขข้อ 3.1.2 โดยกำหนด ให้ความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย ที่ทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะดังต่อ ไปนี้ คือ

1.ตาบอด

2.หูหนวก

3.เป็นไข้หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด

4.สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์

5.เสีย แขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

6.จิตพิการอย่างติดตัว

7.ทุพพลภาพถาวร

เมื่อพิจารณาโดยรวมก็พอจะกล่าวได้ว่า “ทุพพลภาพถาวร” ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ให้ความหมายในส่วนของการสูญเสียอวัยวะตามที่กำหนดไว้เท่านั้น

แต่สำหรับความหมายของคำว่า “ทุพพลภาพถาวร” ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ถูกกำหนดไว้ตามเงื่อนไขในหมวด การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 ว่า “ทุพพลภาพถาวร” ในที่นี้หมายถึง ทุพพลภาพถึงไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆ ในอาชีพ ประจำและอาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป

ดังนั้น เมื่อผู้ประสบภัยที่ได้รับอันตรายจากรถ แม้ว่าจะสูญเสียอวัยวะ ตามที่กำหนดไว้ตามกรมธรรม์ พ.ร.บ. จะถูกถือว่าเป็น “ทุพพลภาพถาวร” ตามกรมธรรม์ พ.ร.บ. แต่ถ้าการสูญเสียอวัยวะนั้นไม่ถึงกับการที่ผู้ประสบภัยไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใดๆ ในอาชีพประจำและอาชีพอื่นๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป ก็จะยังไม่ถือเป็น “ทุพพลภาพถาวร” ในความ หมายของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ทำให้เกิดความแตกต่างกันในความหมายของการพิจารณาเรื่อง “ทุพพลภาพถาวร” สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ทั้งนี้ เพราะจำนวนค่าสินไหมทดแทนสำหรับ “ทุพพลภาพถาวร” ทั้งกรมธรรม์ พ.ร.บ.และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจถูกกำหนดให้เท่ากับค่าสินไหมทดแทนสำหรับการเสียหายต่อชีวิต ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่สูงพอสมควร แต่ความหมายที่ไม่สอดคล้องกันของทั้งสองกรมธรรม์อาจทำให้เกิดปัญหา เพราะผู้ประสบภัยที่ได้รับอันตรายจากรถจนสูญเสียอวัยวะที่ถือเป็น “ทุพพลภาพถาวร” ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับอาจไม่เข้าข่ายของ “ทุพพลภาพถาวร”
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสำหรับการทำความเข้า ใจกับผู้ประสบภัยได้ เช่น กรณีที่ผู้ประสบภัยจากรถได้รับบาดเจ็บจนถึงกับต้องตัดนิ้วใดนิ้วหนึ่งทิ้ง แต่การสูญเสียนิ้วนั้น อาจไม่ถึงกับทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป ซึ่งการสูญเสียนิ้วดังกล่าวในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ถือเป็นการทุพพลภาพถาวร แต่ในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ยังไม่ถือเป็นทุพพลภาพถาวรแต่อย่างใด

ปัญหาของการทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของธุรกิจและประชาชน สำหรับความหมายของเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากตัวเงื่อนไข ของกรมธรรม์เอง ซึ่งน่าจะได้รับการปรับปรุงและแก้ไขให้ถูกต้องไปในแนวทาง เดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกัน เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะนำมาพิจารณาไม่เพียงเฉพาะเรื่อง “ทุพพลภาพถาวร” เท่านั้น แต่น่าจะพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดของเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ซะเลยก็จะดีนะครับ


ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
[ ฉบับที่ 1070 ประจำวันที่ 3-2-2010 ถึง 5-2-2010 ]

ซื้อประกันใช้ได้และใช้ประกนให้เป็น