ขยะทุกอย่างทั้ง พลาสติก สารเคมี แก้ว ไม้ และกระดาษ สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งสิ้น และขณะนี้มีความพยายามนำ "ขยะพลาสติก" มาหลอมรีไซเคิลเป็น "น้ำมัน"
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กระบวนการนี้เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย แต่ยังเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
ยิ่งในไทยต้องเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะพลาสติกภายในประเทศถึงปีละ 2.7 ล้านตัน แต่สามารถรีไซเคิลได้เพียงปีละ 0.7 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการทำลายด้วยการฝั่งกลบ หรือเผาทิ้งถึงปีละ 2.5 ล้านตัน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะกับโลก
การเผาถือเป็นการทำลายชั้นบรรยากาศ ขณะที่การฝังกลบต้องใช้เวลากว่า 500 ปี กว่าพลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลาย และในจำนวนพลาสติกที่ทิ้งไปกว่าปีละ 2.5 ล้านตันนั้น พบว่ามีพลาสติกอยู่ 4 ชนิด ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นน้ำมันได้ ประกอบด้วย HDPE ปริมาณ 1.0 ตัน LDPE ปริมาณ 0.7 ล้านตัน PP ปริมาณ 0.4 ล้านตัน และอื่นๆ อีก 0.4 ล้านตัน
โครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชน (บริษัท ซิงเกิล พอยท์ เอนเนอร์ยี่ แอนด์ เอ็นวิรอนเมนท์ (Single Point Energy And Environment-SPE) เป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยี "นวัตกรรมการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง" จากโปแลนด์ เริ่มนำร่องร่วมมือกับชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น เพราะแต่ละแห่งล้วนกำลังแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง จึงเป็นปัจจัยเสริมกันในการนำขยะพลาสติกในชุมชนกลับมารีไซเคิลด้วยกรรมวิธีดังกล่าว
จังหวัดสมุทรปราการ ถูกเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องดำเนินการในปี 2550 ซึ่งน้ำมันที่ผลิตออกมาได้จะมีโรงกลั่นน้ำมันเป็นผู้รับซื้อ จากการคำนวณพบว่า จะสามารถรณรงค์แยก "พลาสติกสะอาด" ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 6 ตัน
ปริมาณนี้คุ้มค่าเพียงพอสำหรับกลั่นกลับเป็นน้ำมันดิบได้วันละ 4,500 ลิตร หรือ 28 ล้านบาร์เรล
หรือถ้าแยกพลาสติกสะอาดได้ปีละ 2,100 ตัน จะได้น้ำมันดิบ 1.62 ล้านลิตร หรือ 1 หมื่นล้านบาร์เรล สามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบได้ถึง 5% จากที่นำเข้ามา 7 แสนกว่าล้านตันต่อปี
ดร.สันติวิภา พานิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท SPE บอกว่า โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 65 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน 15 ล้านบาท เทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ 35 ล้านบาท และบริษัท SPE 15 ล้านบาท โดยมีแผนร่วมค่อนข้างชัดเจนว่า โครงการนี้จะคืนทุนภายใน 5 ปี หากกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันดิบลิตรละ 15.50 บาท ต่ำกว่าราคาจำหน่ายปกติในราคาลิตรละ 17.30 บาท หรือหากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
โครงการผลิตน้ำมันจากพลาสติกขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมสถานที่ และนำเข้าเทคโนโลยี เหลือแต่เพียงการปลุกจิตสำนึกคัดแยกขยะพลาสติกไว้ในสต็อกให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือนตุลาคมนี้
ประกายดาว แบ่งสันเที๊ยะ
ที่มา - กรุงเทพธุรกิจ
Bookmarks