อย.เตือนอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอนไซม์ และน้ำเห็ดสกัด 6 สายพันธุ์ กล่าวอ้างสรรพคุณรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และโรคร้ายแรงอื่นๆ ย้ำ! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาถี่ถ้วนก่อนซื้อ มิเช่นนั้นจะเสียเงินทองจำนวนมากโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการบริโภค แถมอาจเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายหากมีสารอันตรายเป็นส่วนผสม
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาหลอกลวง พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารทางสื่อต่างๆ เช่น แผ่นพับ วิทยุ เว็บไซต์ โดยเฉพาะทางคลื่นวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และ จานรับสัญญาณดาวเทียม รวมทั้งในรูปแบบขายตรง โดยนำผู้อ้างว่ามีประสบการณ์มาบรรยายถึงสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ พบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นเอนไซม์ ได้แก่ เอนไซม์เจนิฟู้ด เอนไซม์ลี่เป่า เอนไซม์หว้างเหวียนเป่า ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นเครื่องดื่มพืชผักผลไม้ผสม แต่โฆษณาว่าเป็น เอนไซม์ มีข้อความโฆษณาอวดอ้างการบำบัดโรค เช่น ป้องกัน ยับยั้ง ต่อต้าน ทำลายโรคต่างๆ เป็นทางเลือกที่ได้ผลสูง โดยนำบทสัมภาษณ์ผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดัน ไขมันอุดตัน อัมพฤกษ์ ริดสีดวงทวาร นิ่ว มะเร็งเต้านม หัวใจตีบ ฯลฯ ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เอนไซม์ดังกล่าวแล้ว อาการป่วยดีขึ้น หรือหายจากอาการป่วย หรือนำผู้ที่มีชื่อเสียง พิธีกรที่เป็นที่รู้จักนำเสนอ เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อ
ภญ.ศรีนวล กรกชกร </SPAN>นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เช่น น้ำสมุนไพรเฮคาร่า มีข้อความโฆษณาอวดอ้างในลักษณะจากที่เดินไม่ค่อยได้ในตอนแรกก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายแข็งแรงขึ้น เป็นต้น รวมถึงมีการไปเยี่ยมบ้าน และสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์การรับประทานน้ำสมุนไพร ทั้งประชาชนทั่วไป รวมถึงพระภิกษุสงฆ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซัน คลาร่า โดยระบุข้อความโฆษณา เช่น ...ผิวสวย หน้าใส ภายในกระชับ ช่วยให้ผนังเส้นเลือดโดยเฉพาะเส้นเลือดดำ (veins) มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยให้น้ำหนักลดลง ป้องกัน ความผิดปกติของผิวหนัง ป้องกันโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์... ... เพิ่มขนาดความเต่งตึงของทรวงอก ลดอาการปวดท้องประจำเดือน กระชับมดลูกภายในช่องคลอด... เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ โฆษณาว่าสามารถแก้โรคปวดข้อปวดกระดูกให้หายได้ และ ผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดสกัดเพื่อสุขภาพ อวดอ้างว่าสกัดจากเห็ด 6 สายพันธุ์ มีสรรพคุณในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันไข้หวัด ทำให้สุขภาพแข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วยง่าย เป็นต้น ทั้งนี้ อย.ได้ตรวจสอบข้อความโฆษณาดังกล่าว ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย.แต่อย่างใด ดังนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายในข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับ ไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวในทุกสื่อ ซึ่งดำเนินการแล้ว
รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค มีสรรพคุณเพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป ไม่ได้ช่วยป้องกัน ยับยั้ง ต่อต้าน หรือทำลายโรคต่างๆ ได้ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่สำคัญอย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกัน หรือรักษาโรคนอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว หากท่านมีโรคประจำตัวอาจได้รับผลข้างเคียง ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึง ในส่วนของผู้ประกอบการ ขอให้เห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่าโฆษณาด้วยวิธีการต่างๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง มิฉะนั้น อย.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริงผ่านทางสื่อต่างๆ หรือโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อทางราชการ จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNew...=9550000008872
Bookmarks