ย้อนไปในอดีตเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วได้มีอภิมหาโคตรโกงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงหลายคนเกี่ยวโยงด้วย โดยได้นำเอาปัญหาน้ำเสียมาบังหน้าซึ่งประเทศไทยได้ประสบปัญหาน้ำเสียมาเป็นเวลานาน โดยน้ำเสียนั้นมาจากหลายปัญหา เช่น การทิ้งขยะลงแม่น้ำ การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมลงในแม่น้ำ นักการเมืองเหล่านี้ได้อาศัยช่องโหว่ของการจัดตั้งระบบบ่อบำบัดน้ำเสียโกงกินเงินประเทศกัน
โครงการบำบัดน้ำเสียนี้อาจถือได้ว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดที่เคยก่อสร้างขึ้นในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย โดยเมื่อก่อสร้างในระยะแรกแล้วเสร็จจะสามารถบำบัดได้ในอัตราวันละ 525,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้เมื่อโครงการดำเนินจนถึงระยะสุดท้ายจะสามารถบำบัดได้ถึง 1,785,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 ให้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 2 ฝั่ง โดยฝั่งตะวันตกให้ก่อสร้างที่ ต.บางปลากด ส่วนฝั่งตะวันออกให้ก่อสร้างที่ ต.บางปูใหม่ ในวงเงินลงทุน 13,612 ล้านบาท
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโดยมีการเสนอให้ยุบรวมระบบบำบัดน้ำเสียจาก 2 ฝั่ง ให้เหลือเพียงฝั่งตะวันออกฝั่งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการประหยัดการลงทุนเกี่ยวกับค่าที่ดินและง่ายต่อการบำรุงรักษาประหยัดค่าใช้จ่ายและมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนได้มีการเสนอให้ใช้ที่ดินบริเวณ ต.คลองด่าน
ซึ่งเดิมได้ให้กรมโยธาธิการก่อสร้างฝั่งตะวันตกและกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างในฝั่งตะวันออกหลังมีมติใหม่ออกมาได้มีการแต่งตั้งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ก่อสร้างเพียงฝ่ายเดียว โดยให้ประสานแผนงานกับกรมโยธาธิการและกรมอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นระบบที่ประหยัดที่สุด
เดิมที่ดินตั้งอยู่หมู่ 11 ต.คลองด่าน ด้านทิศใต้ ถนน สุขุมวิท บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 58 พื้รที่เป็นดินเลน เป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำ น้ำทะเลท่วมถึง ใบเอกสารที่ดินในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ถือครองเป็นใบ สค. 1 กว่า 90% ที่เหลือเป็นใบ น.ส. 3 การใช้ประโยชน์ในที่ดินชาวบ้านใช้ปลูกไม้โกงกางและไม้แสมที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติ และส่วนหนึ่งขุดบ่อเลี้ยงกุ้งธรรมชาติ ไม่มีบ้านเรือนราษฎรปลูกอาศัยในบริเวณพื้นที่มาก่อน จะมีเพียงกระต๊อบเล็กของชาวบ้านปลูกไว้เฝ้าบ่อกุ้งอยู่ห่างกันเพียงไม่กี่หลัง สภาพพื้นที่เป็นป่าชายเลนติดกับทะเล
การจัดซื้อที่ดินสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านมีเงื่อนงำหลายประการ ประการแรก คือ มีการเปลี่ยนที่ก่อสร้างโครงการที่ ต.บางปลากด กับ ต.บางปูใหม่ เป็นที่ ต.คลองด่าน ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเข้าทางปืนกลุ่มธุรกิจการเมืองที่ต้องการขายที่ดินของตนเอง ประการที่สอง คือ ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าชายเลนและเป็นเขตป่าอนุรักษ์จึงไม่สามารถออกโฉนดได้ เมื่อกลุ่มบริษัทการค้าผู้รับเหมา(NVPSKG)ซื้อที่ดินเสร็จก็โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่กรมควบคุมมลพิษเพื่อรับเงินค่าที่ดินจำนวน 1,956 ล้านบาท ประการที่สาม คือ ที่ดินมีราคาสูงกว่าปกติเพราะสำนักที่ดินจังหวัดสมุทรปราการประเมินราคาที่ดิน 17 แปลง ในราคาไร่ละ 480,000 บาท แต่กลับมาย้อมแมวขายในราคาไร่ละ 1.03 ล้านบาท ประการที่สี่ คือ การอนุมัติงวดเงินเพื่อจัดซื้อโดยมิชอบ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินจำนวนที่มากกว่าเดิมในการซื้อที่ดินถึงเท่าตัว ทั้งๆที่เดิมบอกไว้ว่าเป็นการประหยัดขึ้นในการสร้างที่เดียว ประเด็นที่ห้า คือ การเลือกผู้รับจ้างเป็นบริษัทรับเหมาของนักการเมืองกันเอง จำนวนหลายบริษัทอาทิเช่น บริษัทสี่แสงการโยธา(1979) จำกัด บริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด
บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการนี้ได้แก่ กลุ่มผู้รับเหมา(NVPSKG)โดย N คือ บริษัทนอร์ธเวส วอเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(ของอังกฤษ) ,V คือ บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด(ของนายพิษณุ ชวนะนันท์) , P คือ บริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำกัด(ของตระกูลลิปตพัลลภ) , S คือ บริษัทสี่แสงการโยธา(1979) จำกัด(ของนายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล ซึ่งแนบแน่นกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา) , K คือ บริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด(นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล หลานของนายวิจิตร ชวนะนันท์) , G คือบริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด(คนอยู่ในบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟีชเชอร์รี จำกัด) นอกจากนี้ยังมีบริษัทไทยเรืองอุตสาหกรรม(คือการรวมตัวกันของบริษัท VSK) บริษัทปาล์มบีช ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด(นายวัฒนาและนายสมพร อัศวเหม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นผู้ถือหุ้น) บริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟีชเชอร์รี จำกัด(ของนายอิศราพร ชุตาภา)และได้มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องคือกรมควบคุมมลพิษสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนยีและสิ่งแวดล้อม
ความเชื่อมโยงของกลุ่มนี้เริ่มจาก นายวัฒนา อัศวเหมได้ซื้อที่จากประชาชนในราคาไร่ละ 20,000 บาทในนามบริษัทเหมืองแร่ลานทอง จำกัด จำนวนหนึ่งและได้ขายที่ดินให้บริษัท ปาล์มบีชในราคาไร่ละ 100,000 กว่าบาท และได้กว้านซื้อพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อนำไปทำเป็นสนามกอล์ฟ จากนั้น บ.ปาล์มบีชได้ขายต่อให้บริษัทคลองด่านในราคาไร่ละ 200,000 กว่าบาท จากนั้นบริษัทคลองด่านได้ขายต่อให้บริษัทผู้รับเหมา(NVPSKG)ในราคาไร่ละ 400,000 กว่าบาทและได้ขายต่อให้กับกรมควบคุมมลพิษในที่สุด โดยขายในราคาไร่ละ 1 ล้านกว่าบาท รวมทั้งหมด 1,903ไร่ ซึ่งราคาจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเปลี่ยนมือผู้ถือโฉนดจากราคาไร่ละ 20,000 บาท เป็นไร่ละ 1 ล้านกว่าบาท ทำให้สูญเสียค่าที่ดินไปเป็นจำนวนเงิน 1,956 ล้านบาท จากเดิมค่าที่ดินประเมินเอาไว้ที่ 900 ล้านบาทจากนั้นบริษัทไทยเรืองอุตสาหกรรมเป็นผู้ผลิตท่อบำบัดน้ำเสียซึ่งบริษัทไทยเรืองอุตสาหกรรมเป็นบริษัท(VSK)รวมตัวกันและบริษัทผู้รับเหมา(NVPSKG)เป็นผู้ดำเนินการสร้าง หลังจากเปลี่ยนมติให้ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านแทนเป็นเหตุให้ต้องเพิ่มงบประมาณจากเดิม 12,866 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากค่าก่อสร้างท่อเพื่อรวบรวมน้ำเสียจากฝั่งตะวันตกมาบำบัดที่ฝั่งตะวันออก และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการวางท่อเพื่อระบายน้ำทิ้งลงในอ่าวคลองด่าน และเพื่อเป็นค่าซื้อที่ดินสำหรับที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย
เดิมการซื้อขายเปลี่ยนมือราคาที่ดินในบริเวณพื้นที่ที่ใช้สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเรียงตามลำดับ พ.ศ. มีดังนี้ วันที่ 29 เม.ย. 2503 ได้มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่180/98 ระหว่างนายสังวรณ์ จั่นเพชร กับ นายปุย นางสุชิน โห้ประไพ ผู้ซื้อในราคาไร่ละ 200 บาท จำนวน 37 ไร่ วันที่ 28 มิ.ย. 2517 นายปุย นางสุชิน โห้ประไพ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวขายยกแปลงให้กับ นายสมศักดิ์ ชนสารสินป์ ในราคา 245,375 บาท ตกราคาประมาณไร่ละ 6,578 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2531 นายวัฒนา อัศวเหม ก็ได้ซื้อที่ดินในบริเวณพื้นที่หมู่ 11 ต.คลองด่านไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2531-2533บริษัทปาล์มบีชได้กว้านซื้อพื้นที่บริเวณหมู่ 11 ต.คลองด่านโดยเป็นพื้นที่ที่ใช้บำบัดน้ำเสียที่คลองด่านในปัจจุบันและได้ทำกันเป็นกระบวนการต่อไปเรื่อยๆ
นอกจากเรื่องที่ดินและการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแล้ว การเลือกตั้งพื้นที่บริเวณ ต.คลองด่านเป็นที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและท่อต่อระบายน้ำเสียลงในทะเลบริเวณอ่าวคลองด่านก็ก่อให้เกิดปัญหาเช่นกัน โดยชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านการดำเนินงานตามโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งวุฒิสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามตรวจสอบโครงการนี้ ซึ่งพบประเด็นปัญหาต่างๆคือ 1. ปัญหาทางด้านกฎหมาย 2. ปัญหาทางด้านวิศวกรรม และ 3. ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เนื่องด้วยตัวทีมงานมีโอกาสได้เข้าไปทำข่าวที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจมากเมื่อ 10 ปีที่แล้วมารายงานเหตุการณ์ให้ผู้อ่านได้รับทราบ เพราะทางทีมงานเห็นว่าเป็นข่าวที่มีความน่าสนใจแต่ได้ผ่านมาแล้ว 10 ปี ซึ่งข่าวนี้ยังไม่จบแต่มีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งมีการยื่นเอกสารข้อมูลการทุจริตให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในข้อหาทุจริตเรื่องการจัดซื้อที่ดินเกินราคาจริงมานานหลายปี แต่คดีก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า จนคดีที่ดินจำนวน 6 แปลง หมดอายุความแล้วเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 แม้จะดูเหมือนเส้นทางจัดการการทุจริตอภิมหาใหญ่ยักษ์มูลค่า 2.3 หมื่นล้านโครงการนี้ จะส่อแววหาผู้รับผิดไม่ได้ แต่เราก็หวังว่ารัฐจะไม่นิ่งนอนใจที่จะจัดการกับเรื่องนี้ เพราะการปราบปรามทุจริตในวงการรัฐก็เป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลชูมาตลอด 4 ปี ที่ผ่านมาและจะชูไปอีก 4 ปีข้างหน้า หอข่าวฯซึ่งเป็นเยาวชนรุ่นใหม่จึงฝากความหวังไว้กับผู้ใหญ่ เราจะคอยติดตามว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปยังไง จะจับกุมผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือประเทศไทยจะต้องสูญเปล่าไปกับเงินกว่าสองหมื่นล้านบาทหรือไม่ หรือจะมีทางออกประการใดบ้างนั้น คงต้องติดตามกันดู
หนังสืออ้างอิง 1. เฉลา ทิมทอง (2546) . เปิดโปงโคตรขี้โกงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน . คำให้การต่อกรม สอบสวนคดีพิเศษ 2. แนวหน้า . เปิดรายงานอภิมหาโคตรโกง . 16 มิถุนายน 2546 3. ศัลยา ประชาชาติ (2546) . มติชนสุดสัปดาห์ . ไอ้ก้านยาวกู้ภาพไอ้ก้านหนุ่มลุยปราบโกงคลองด่าน 2 หมื่นล้านแฉนักการเมือง-ผู้รับเหมาพัวพัน . (น.16) 17 มกราคม 2546 ฉบับที่ 1170 4. มติชนสุดสัปดาห์ . เพลงดาบไอ้ก้านยาวเสียบอัศวเหมทะลุชาติไทย-ชาติพัฒนา สังเวยคลองด่าน . (น.12) 13 มิถุนายน 2546 ฉบับที่ 1191 5. มติชน . สอบสวนพิเศษ เริ่มลุยต่อคลองด่านภาค 3 เตรียมเรียกเลขาฯครม.สอบไม่แก้มติ ครม. . (น.12) 29 มิถุนายน 2546 6. ไทยรัฐ . คดีคลองด่านเจอตอ . (น.19) 27 มิถุนายน 2546 |
Bookmarks