มหาอุทกภัยกำลังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดประกันภัยรถยนต์อีกครั้งเมื่อบริษัทประกันภัยเตรียม จะพัฒนาประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจรูปแบบใหม่เพิ่มความคุ้มครองภัยน้ำท่วมให้กับประกันภัยประเภทอื่นที่ไม่ใช่ประกันชั้น 1 ไม่ว่าจะเป็นประกันประเภท 2 ประเภท 3 รวมไปถึงแบบประกันตระกูลพลัสต่างๆ ทั้ง 2 พลัส (2+1) และ 3 พลัส (3+1) ซึ่งปัจจุบันไม่มีความคุ้มครอง น้ำท่วมออกมารองรับความต้องการของประชาชนเพราะรถยนต์ที่จะเรียกร้อง ค่าเสียหายเนื่องจากถูกน้ำท่วมได้มีแค่ประกันชั้น 1 เท่านั้น
>>ชั้น 2 ชั้น 3 คุ้มครองภัยธรรมชาติอั้นทุนประกันเหมือนตระกูลพลัส
“เป็นไปได้ที่เราจะพัฒนาแบบประกันภัยรถ 2 พลัส และ 3 พลัสพิเศษให้มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมเหมือนกับประกันชั้น 1 ออกมาจะมีการคิดเบี้ยประกันที่ เหมาะสมสำหรับกรมธรรม์ประเภทนี้เป็น แนวทางในอนาคต “สมพร สืบถวิลกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ในฐานะประธานคณะกรรมการประกัน ภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยกล่าว
ถามว่ารูปแบบใหม่จะออกมาในลักษณะใด “สมพร” กล่าวว่าอาจจะออกมา เป็นกรมธรรม์แบบพิเศษฉบับมาตรฐานตัวใหม่เหมือนกรมธรรม์ประเภท 2 พลัส และ 3 พลัสที่ให้ความคุ้มครองรถคันเอาประกันภัยจากการชนกับยานพาหนะทางบก ขณะที่ทุนประกันภัยความคุ้มครองภัยน้ำท่วมในกรมธรรม์แบบพิเศษนี้อาจจะมีการจำกัดความรับผิด (ซับ ลิมิต) กำหนดทุนแค่ 100,000-200,000 บาทเหมือนประกัน 2 พลัสและ 3 พลัสที่จำกัดความคุ้มครองจากการชนไม่ได้เต็มเพดานเหมือนชั้น 1 โดยจะหารือกับคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ในการประชุม ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม
“กรมธรรม์แบบใหม่มีความเสี่ยง แต่มีโอกาสในการทำตลาดหากน้ำไม่ท่วมหรือเจ้าของรถนำรถหนีน้ำทันเพราะการจำกัดทุนประกันภัยไม่ได้คุ้มครองเต็มเหมือนชั้น 1 ทั่วไปจะทำให้เจ้าของรถพยายามดูแลรถมากขึ้นเพราะต้องรับผิดชอบเองมากขึ้น ทิพยฯก็สนใจกรมธรรม์ตัวนี้เหมือนกันเราเห็นว่าน่าเสี่ยงเป็นเรื่องสร้างสรรค์เป็นโอกาสเพราะโดยธรรมชาติเจ้าของรถไม่อยากให้ทรัพย์สินเสียหายรถไม่เหมือนบ้าน หนีน้ำได้”
>>ชั้น 1 งดประกันน้ำท่วมต้องขอ คปภ. เป็นไปได้บริษัทหั่นทุนลดเสี่ยง
ส่วนประเด็นที่เริ่มมีการพูดกันว่าบริษัทประกันภัยบางแห่งไม่คุ้มครองภัยน้ำท่วมลูกค้าต่ออายุกรมธรรม์ชั้น 1 “สมพร” กล่าวว่า ตามหลักการทำได้เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทประกันภัยและลูกค้าแต่การยกเว้นความคุ้มครองภัยน้ำท่วมต้องขออนุมัติจาก คปภ. ก่อนเพราะกรมธรรม์ชั้น 1 ฉบับมาตรฐานคุ้มครองทุกภัย หากไม่คุ้มครองเท่ากับผิดเงื่อนไขหรือหากคุ้มครองอาจจะมีการลดทุนประกันภัยน้ำท่วมลงจำนวนหนึ่งไม่เต็มร้อยเหมือนในอดีต
“บริษัทประกันภัยอาจจะอ้างว่าเขา ไม่ได้มีบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ต่างประเทศรับช่วงต่อถ้ารับเหมือน เดิมเขามีความเสี่ยงมากขึ้นอาจจะมีปัญหา ต่อฐานะการเงิน น้ำท่วมครั้งนี้ค่าสินไหมรถยนต์เป็นหลักพันล้านบาท ประกันรถ ยนต์ไม่ค่อยทำ ประกันความเสียหายส่วน เกิน (excess of loss) เช่น ค่าเสียหาย 100 ล้านบาท บริษัทประกันซื้อความเสียหายส่วนเกินไว้ที่ 20 ล้านบาท ส่วนที่เกินจาก 20 ล้านบาท บริษัทรับประกันภัยต่อจ่าย อีกทั้งน้ำท่วมครั้งนี้บริษัทรับประกันภัยต่อจำนวนหนึ่งไม่รับเอ็กเซส ออฟ ลอสส์ บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเอง เกือบหมด”
ด้าน “พันธ์เทพ ชัยปริญญา” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ในฐานะประธานชมรมสินไหมยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยกล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า การจะขอยกเว้นไม่คุ้มครองภัยน้ำท่วมในกรมธรรม์ชั้น 1 รวมถึงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ ต้องขออนุมัติจากคปภ.เท่านั้น เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้คปภ.คงไม่อนุมัติ ขณะ ที่การลดทุประกันน้ำท่วมลงจากเดิม ซึ่งปกติกรมธรรม์รถยนต์ให้รับทุนประกันไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่ารถอาจจะลดลงได้แต่ต้องไม่ต่ำเกินไป ซึ่งหากลดทุนเหลือแค่ 50% หากมีความเสียหายเกิดขึ้นบริษัทประกันภัยจ่ายตามทุนประกันแต่จะมีปัญหาไม่สามารถโอนทะเบียนได้
>>แบบใหม่ออกเป็นเอกสารแนบท้ายทุนแสนเบี้ย 500/วินาศภัยพร้อมขาย
ส่วนการขยายความคุ้มครองกรมธรรม์อื่นที่ไม่ชั้น 1 ครอบคลุมภัยน้ำท่วม “พันธ์เทพ” กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงอาจจะออกเป็นสัญญาแนบท้ายคุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด อาทิ แผ่นดินไหว ไม่ใช่แค่น้ำท่วมอย่างเดียว สามารถนำไปติดด้านหลังกรมธรรม์รถยนต์ประเภทอื่นๆ ได้ทันทีซึ่งจะง่ายและทำได้รวดเร็วมากกว่าการออกเป็นกรมธรรม์ใหม่ ซึ่งต้องจัดทำข้อความต่างๆ และคิดเบี้ยใหม่หมด ขณะที่สัญญาแนบท้ายคิดแค่เบี้ยภัยธรรมชาติออกมา อาจจะไม่จำกัดทุนประกันภัย แล้วแต่ข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้เอาประกัน ทุนประกันอาจจะเริ่มต้นที่ 50,000 บาท เบี้ยอาจจะคิด 0.5% ถ้าทุนประกัน 10,000 บาทเบี้ยก็เท่ากับ 50 บาท
สำหรับวิริยะหากมีกรมธรรม์แปลกใหม่ก็สนใจอยู่แล้วให้เป็นทางเลือกกับลูกค้า “อานนท์ วังวสุ” ผู้อำนวยการฝ่าย สินไหมทดแทน บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ว่า ยังไม่ได้คุยกันว่าประกัน รถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่จะคุ้มครองภัยธรรมชาติรวมน้ำท่วมจะออกมาเป็นแบบไหน แต่หากเป็นสัญญาแนบท้ายก็สะดวก นำไปปะติดด้านหลังกรมธรรม์ได้ทันทีเชื่อว่าประชาชนจะมีความต้องการภัยน้ำท่วมมากขึ้น
ด้าน “นิค จันทรวิทุร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด ให้ความเห็นกับ “สยามธุรกิจ” ว่า บริษัทมีแผนจะออกกรมธรรม์ 2 พลัส และ 3 พลัสบวกเพิ่มภัยน้ำท่วมตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็ได้ชะลอไว้ก่อน ทั้งนี้ กรมธรรม์ 2 พลัส และ 3 พลัส บวก ภัยน้ำท่วมนี้คอนเซปต์จะเหมือนกับกรมธรรม์กันชนคือ เป็นเอกสารแนบท้าย โดย จะให้ความคุ้มครองกรณีรถจอดอยู่ในบ้าน แล้วถูกน้ำท่วมหรือระหว่างที่ขับไปแล้วเจอน้ำท่วมรถเสียหาย แต่ไม่คุ้มครองกรณี ที่ว่ารู้ว่ามีน้ำท่วม ก็ยังขับขี่ออกไปทุกวันจน เจอน้ำท่วม เชื่อว่าต่อไปตลาดจะขายคุ้มครองเพิ่มภัยน้ำท่วมกันมากเพราะต่อไปจะถือเป็นภัยที่เกิดขึ้นบ่อย
ที่มา: นสพ.สยามธุรกิจ
[ ฉบับที่ 1253 ประจำวันที่ 26-11-2011 ถึง 29-12-2011 ]
|
Bookmarks