สิทธิและหน้าที่ ที่ผู้ทำประกันภัยรถยนต์ควรรู้
หลายครั้งที่ข้อโตแย้งระหว่างบริษัทประกันภัย และผู้เอาประกันภัยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เอาประกันภัยไม่เข้าใจในหลักกฎหมาย เงื่อนไข และข้อยกเว้นของการทำประกันภัย ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันได้ หากผู้เอาประกันภัยได้อ่านและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ ขอบเขตความคุ้มครอง เงื่อนไขและข้อยกเว้นต่างๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
ดังนั้นจึงใคร่ขอหยิบยกเรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย เงื่อนไข และข้อยกเว้น ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่คิดว่า สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย ซึ่ง กองส่งเสริมการประกันภัย และสารสนเทศ กรมการประกันภัย ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจ และ อินไซด์ประกัน ใคร่ขอทำหน้าที่เป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับท่านผู้อ่านอีกทอดหนึ่ง
การหยุดใช้รถ ผู้เอาประกันภัย อาจแจ้งการหยุดใช้รถยนต์เพื่อขอรับเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทผู้รับประกันสามารถทำได้ คือ ต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อขอหยุดการใช้รถยนต์ ซึ่งบริษัทประกันภัยจะทำการคืนเบี้ยประกันภัยโดยคิดเฉลี่ยให้เป็นรายวัน แต่ก็มีข้อยกเว้นการคืนเงินเบี้ยประกันในกรณีที่ หยุดใช้รถยนต์ ในระหว่างการซ่อมรถ และหยุดการใช้งานที่น้อยกว่า 30 วัน
การโอนรถ เมื่อผู้เอาประกันภัยรถยนต์ โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่นให้ถือว่าผู้รับโอนเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ และบริษัทผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบตามกรมธรรมธ์ประกันภัยต่อไปตลอดอายุกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังเหลืออยู่ ส่วนในกรณีที่เป็นการทำประกันภัยประเภทระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ขับขี่ให้บริษัทประกันภัยทราบ เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัย ตามสภาพความเสี่ยงภัยที่เปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นผู้เอาประกันภัยอาจจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายส่วนแรก ตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ปรากฏในกรมธรรม์
รถยนต์เช่าซื้อ การประกันภัยรถยนต์เช่าซื้อ ให้บริษัทผู้รับประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัยแต่ผู้เดียวเท่านั้น การยกผลประโยชน์ตามส่วนได้เสียให้ผู้เช่าซื้อ ให้บริษัทใช้เอกสารแนบท้าย
การลด - เพิ่มเบี้ยประวัติ กรณีประวัติดี มีส่วนลดเบี้ยประกันภัยไว้ 4 ขั้น ขั้นละปีตามลำดับ คือ 20%-50% หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในปีใดปีหนึ่งยังคงมีส่วนลดเบี้ยประวัติในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท ก็จะได้ส่วนลดเพิ่ม และในกรณีที่เป็นฝ่ายประมาท หรือไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้ ส่วนละจะน้อยลงไปเท่ากับปีที่ผ่านมา เช่นในปีนี้ควรจะได้รับส่วนลด 30% แต่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายประมาท ส่วนลดที่ได้รับจะเหลือเพียง 20% แต่ถ้าเป็นฝ่ายประมาท หรือไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้และมีการเรียกร้องค่าสินไหมตั้งแต่ 2 ครั้งขขึ้นไป และมีจำนวนเงินเกินกว่า 200% ของเบี้ยประกันภัยส่วนลดจะน้อยลงไปเท่ากับ 2 ปีที่ผ่านมา
เช่นปีนี้ควรจะได้รับส่วนลด 30% แต่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายประมาท และมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 60,000 บาท ขณะที่เบี้ยประกันภัย มีอัตรา 15,000 บาท ส่วนลดที่ได้รับก็จะไม่เหลือเลยต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ และถ้าเป็นกรณีที่ประวัติไม่ดี มีส่วนเพิ่มเบี้ยประกันภัย 4 ขั้น ขั้นละปี ตามลำดับคือ 20% 30% 40% และ 50% เช่นกัน
การบอกเลิกกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ ดังนี้
1. กรณีบริษัทบอกเลิก ต้องส่งหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัยตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ และบริษัทคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน
2. กรณีผู้เอาประกันภัยบอกเลิก ให้แจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร และมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืนตามอัตราการคืนเบี้ยประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และ
3. กรณีเป็นการประกันภัยกลุ่มและมีการลดจำนวนรถยนต์ ให้คืนเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยรายวัน
การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ในกรณีมีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือ ข้อเรียกร้องใดๆ ระหว่างผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยกับบริษัทประกันภัย หากผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องการให้ยุติข้อพิพาทนั้นโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ตามข้อบังคับของกรมการประกันภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ
การจัดการเรียกร้องเมื่อเกิดความเสียหาย หมายความว่า เมื่อเกิดความเสียหายหรือความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเกิดขึ้นผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่ต้องแจ้งให้บริษัทผู้รับประกันภัยทราบโดยเร็ว และดำเนินการอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมาย บริษัทมีสิทธิเข้าดำเนินการในนามของผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ หากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ภายใต้ความคุ้มครองในกรมธรรม์ ความคุ้มครองของบริษัทจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่ดำเนินการโดยสุจริต
การแก้ไขสัญญา สัญญาคุ้มครองและเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยเอกสารแนบท้ายของบริษัทผู้รับประกันภัยเท่านั้น
การสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์ มีผลเกิดขึ้นในกรณีต่อไปนี้
1. ณ วันเวลาที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์
2. เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภัยภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่กรมธรรมเริ่มมีผลบังคับให้ถือว่าผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์จะเอาประกันภัยอีกต่อไป และ
3. มีการบอกเลิกกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันภัยหรือบริษัทเป็นฝ่ายบอกเลิกก็ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จะต้องอ่านสัญญาประกันภัย และที่สำคัญต้องไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องมีสติตลอดเวลา อุบัติเหตุทุกอย่างก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
Bookmarks