ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีความฉ้อฉลของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากจะกินรวบทรัพยากรพลังงานที่เป็นของคนไทยทั้งประเทศแล้ว ยังสร้างความร่ำรวย บนคราบน้ำตา ปั่นราคา ฟันกำไร ทำร้ายประชาชนตาดำๆ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในโลก โซเชียลเน็ตเวิร์ก ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก กระทั่งมีการวมกลุ่มเพื่อช่วยกันแฉข้อมูล และทวงคืน ปตท.อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทวงคืนพลังงานไทย กลุ่มทวงคืน ปตท. กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการผูกขาด และทวงคืนสมบัติชาติ (ปตท.) หรือกลุ่ม Thai Energy Get Back
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มที่ทำให้แรงกระเพื่อมจนกลายเป็นกระแสทวงคืน ปตท.ดังกล่าวนั้น เกิดจากบรรดานักวิชาการที่ร่วมกันออกมาแฉข้อเท้จจริงและเบื้องหน้าเบื้อง ทำให้ประชาชนเริ่มรู้ตัวว่ากำลังถูก 'ปล้นกลางแดด' ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ 'มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี' เลขานุการอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ ที่เดินหน้าเปิดเอกสาร ดับเครื่องชนกับ ปตท. รวมถึงกระทรวงพลังงานที่ทำตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์ ปตท.ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
และครั้งนี้ 'มล.กรกสิวัฒน์' ได้ออกมาลากไส้ ปตท. และกระทรวงพลังงานอีกครั้ง เพื่อตอบคำถามว่า ไทยมีแหล่งพลังงานมหาศาลจริงหรือไม่ ทำไมคนไทยจึงใช้น้ำมันแพง และผลประโยชน์เหล่านี้ตกอยู่ที่ใคร ?
ตอนนี้กระแสที่แรงมากในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กคือทำไมราคาก๊าซและน้ำมันของประเทศไทย ถึงแพงกว่าต่างประเทศมาก ทั้งๆ ที่เราสามารถขุดก๊าซและน้ำมันจากอ่าวไทยได้
ตอนนี้มีคำถามกันมากว่าราคาน้ำมันและราคาก๊าซในประเทศไทยแพงเกินไปไหม แพง เกินจริงหรือเปล่า เราควรจะกลับไปดูข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าประเทศไทยมีน้ำมันดิบ มี ก๊าซธรรมชาติ จริงหรือไม่ โดยเฉพาะน้ำมันดิบคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเรามี กระทรวง พลังงานก็พยายามปฏิเสธ บอกว่าไม่มี พอมีคนเอาข้อมูลออกมาเปิดเผย กระทรวงก็จำยอมต้องกับความจริงแต่ยังเม้มว่ามี แต่..น้อย ในที่สุดเพิ่งยอมรับว่ามีพอสมควร แต่....ยังไม่พอใช้ คือคำพูดของกระทรวงพลังงานเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความรู้ของคนในสังคม เมื่อเรารู้มากขึ้นเขาก็ยอมรับมากขึ้นว่ามีประเทศไทยมีน้ำมันจริง ก็คงมีอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังความ พยายามที่ไม่อยากให้คนไทยรับทราบเรื่องทรัพย์ของแผ่นดินชิ้นนี้ น่าคิดนะว่าประชาชนไทยเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันและบ่อก๊าซที่แท้จริงแต่คนไทยกลับจนลงเพราะต้องใช้น้ำมันในราคา นำเข้าซึ่งแพงมาก ส่วนคนที่ร่ำรวยกลับเป็นบริษัทน้ำมัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็พูดอยู่เสมอว่าใครบอกว่าไทยผลิตน้ำมันดิบได้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มันไม่จริง...ต้องบอกอย่างนี้ครับ จากข้อมูลกระทรวงพลังงานเองชี้ชัดว่าเราสามารถขุดเจาะปิโตรเลียมรวมได้วันละ 1 ล้านบาร์เรลจริงครับ ซึ่งใน 1 ล้านบาร์เรลมาจากก๊าซธรรมชาติประมาณ 7 แสนบาร์เรล จริงๆ หน่วยของก๊าซเป็นลูกบาศก์ฟุตแต่ขอแปลงเป็นบาร์เรลเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เป็นน้ำมันดิบประมาณ 1.5-1.6 แสนบาร์เรล และที่เหลือเป็นก๊าซโซลีนธรรมชาติ และคอนเดนเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว โดยเมื่ออยู่ใต้ดินจะมีสถานะเป็นก๊าซ แต่เมื่ออยู่บนดินจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว) ซึ่ง 2 ตัวนี้สำคัญมาก แต่คนไทยไม่รู้จัก กระทรวงพลังงาน ไม่เคยบอก รมว.พลังงานก็ไม่พูดถึง ซึ่ง 2 ตัวนี้ถ้าพูดภาษาชาวบ้านผมเรียกว่าหัวกะทิน้ำมันดิบเนื่องจากราคาแพงกว่าน้ำมันดิบมากเพราะมีคุณภาพ ใกล้เคียงกับเบนซินที่สุด ดังนั้นในอเมริกาจึงเรียกก๊าซตัวนี้ว่า ก๊าซโซลีนธรรมชาติ(Natural Gasoline) เพราะคำว่าก๊าซโซลีนนั้นในประเทศสหรัฐฯ คือน้ำมันเบนซิน ดังนั้นก๊าซโซลีน ธรรมชาติจึงเหมือนเบนซินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมันมักจะอยู่ในหลุมก๊าซ เวลาขุดก๊าซเขาบอกว่าหลุมก๊าซไม่มีน้ำมันดิบนั้นถูกต้อง แต่มันมีก๊าซโซลีนธรรมชาติและคอนเดนเสท พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือหัวกะทิน้ำมันดิบนั่นเอง
ก๊าซโซลีนธรรมชาติกับคอนเดนเสท เขาเอาไปทำอะไร
สามารถนำไปผสมกับน้ำมันดิบและกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปได้เลยครับ แต่ไม่ได้ เรียกว่าน้ำมันดิบเท่านั้นเองเพราะมันมีองค์ประกอบใกล้เคียงกับเบนซิน โดยสิ่งที่จะได้จาก การกลั่นก๊าซโซลีนธรรมชาติและคอนเดนเสทคือ เบนซิน ดีเซล และก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่แพงทั้งหมดเลย น้ำมันเตาแทบจะไม่มี ดังนั้น ที่ราคาน้ำมันดิบมันถูกก็เพราะมันมีน้ำมันเตาปนอยู่เยอะ แปลว่าประเทศไทยมีของดี ของแพง แต่คนไทยอย่าหวังจะได้แอ้ม
นอกจากปริมาณก๊าซโซลีนธรรมชาติและคอนเดนเสทที่เขาไม่พยายามบอกเราแล้ว เขาก็จะยังมักจะไม่นับรวมแหล่งจีดีเอไทย-มาเลเซียด้วย ซึ่งแหล่งนี้ขุดเจาะได้ประมาณ 3 แสนบาร์เรลต่อปี เป็นของไทยครึ่งหนึ่งคือ 1.5 แสนบาร์เรลต่อปี แต่ผมเอามารวมด้วยเพราะเป็นทรัพยากรของประชาชน จึงกลายเป็นที่มาของปริมาณปิโตรเลียม 1 ล้านบาร์เรลต่อวันที่ขุดได้จากแผ่นดินไทย เพราะฉะนั้นเวลากระทรวงพลังงานหรือปตท.พูดกับเรา ตัวเลขจึงขาดหายไปมากเนื่องจากตัดออกไปหลายอย่าง
กระทรวงพลังงานระบุว่าแหล่งน้ำมันของไทยมีขนาดเล็ก ขุดเจาะยาก ทำให้ปริมาณน้ำมันในไทยมีน้อย
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงต้องแปลว่าเราต้องมีแหล่งน้ำมันเล็กๆ ที่ว่าอยู่เป็นจำนวนมากมาย เพราะปัจจุบันเราขุดเจาะปริมาณปิโตรเลียมมากกว่าพม่า และบรูไน 3 เท่า แต่รัฐบาลไทยได้ส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมน้อยที่สุดในอาเซียนด้วยเหตุผลว่าแหล่งน้ำมันของเราเป็นกระเปาะ เล็ก ผมก็เคยเรียนทางกระทรวงว่า แปลว่ากระเปาะเล็กของเราต้องมีหลายพันกระเปาะนะมันถึงได้ปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้มากถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่สำคัญด้วยเทคนิคการการขุดเจาะแบบหลุมแคบ ที่พัฒนาโดยยูโนแคล ทำให้ต้นทุนการขุดเจาะต่ำลงมากเหลือ เพียง 22 ล้านบาทต่อหลุมเท่านั้น(จากเอกสาร Slimhole development in the gulf of Thailand: Society of Petroleum Engineer) โดยในปี 2542 ประเทศไทยทำสถิติการขุดเจาะปิโตรเลียมได้เร็วที่สุดในโลกที่แหล่งฟูนานในอัตรา 5,145 ฟุตต่อวัน(เอกสารย้อนรอยปิโตรเลียมของบริษัทเชฟรอน) และจากรายงานผู้ถือหุ้นปี 2553-2554 ของบริษัทเฮส (Hess)ระบุเรื่องต้นทุนการขุดเจาะในเมืองไทยอยู่ที่ประมาณ 8-10 เหรียญต่อบาร์เรล หรือ 1.60-1.88 บาทต่อลิตรเท่านั้น สรุปว่าขุดน้ำมันเมืองไทยสัมปทานถูก ขุดง่าย ขุดไว และต้นทุน ต่ำ แต่คนไทยใช้น้ำมันแพงที่สุดในอาเซียน
แล้วพลังงาน 1 ล้านบาร์เรลต่อวันนี่พอใช้ภายในประเทศไทยไหม
ทางราชการบอกว่าพลังงานที่ได้ภายในประเทศไม่พอใช้ แต่สิ่งที่พบคือตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรระบุว่าเราส่งออกน้ำมันดิบทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจ นะ ครับ เราบอกเราไม่พอใช้ แต่เรากลับส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่ง 4 ประเทศหลักที่นำเข้าน้ำมันดิบจากไทย อันดับ 1อเมริกา , อันดับ 2 จีน , อันดับ 3 เกาหลีใต้ และอันดับ 4 สิงคโปร์ โดยปี 2555 ที่ผ่านมามีมูลค่ามากถึง 51,000 ล้านบาท ซึ่งตอนแรกกระทรวงพลังงานก็อ้างว่าน้ำมันที่ส่งออกไปเป็นน้ำมันที่คุณภาพไม่ดี แต่อย่าลืมว่าประเทศที่ไทยส่งน้ำมันดิบไปขายล้วน แต่เป็นประเทศที่เจริญแล้ว ร่ำรวย และมีมาตรฐานในด้านคุณภาพชีวิตสูงกว่าไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ผมก็ขอถามทั้งกระทรวงพลังงานและ ปตท.ว่า ถ้าน้ำมันคุณภาพไม่ดี อเมริกาก็คงไม่ใช้เพราะเขามีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงมาก คุณภาพน้ำมันที่เขาใช้ก็สูงมาก ดังนั้นการอ้างว่าน้ำมันไทยคุณภาพไม่ดี ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง
เขาบอกว่าน้ำมันของไทยมีสารปรอทอยู่เยอะ ผมก็บอกว่าปรอทเยอะมันมีในหลาย ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เยอรมนี ปรอทในน้ำมันก็เยอะ เขาก็ส่งออกได้ เพราะแค่เอาปรอท ออกจากน้ำมันไม่ใช่เทคโนโลยีที่ยาก ซึ่งตอนหลังกระทรวงก็เริ่มจนมุม ท่านก็เลยแก้ตัวว่า น้ำมันไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นไทย ผมก็เลยตั้งคำถามต่อว่าที่ผ่านมาเราส่งน้ำมันดิบไปอเมริกา ไปจีน เกาหลี สิงคโปร์ เขาก็เอาน้ำมันดิบไปกลั่นต่อแสดงว่าน้ำมันที่ขุดจากประเทศ ไทยนี่เหมาะกับโรงกลั่นของทุกประเทศเลย แต่ไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศไทย สิงคโปร์เขาก็กลั่นน้ำมันส่งออกทั่วโลก แต่เมืองไทยบอกกลั่นไม่ได้ ? ผมคิดว่าถ้าทรัพยากรตรงนี้ถูกขุดขึ้นมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงและมีการวางนโยบายพลังงานแบบเศรษฐกิจพอเพียง เรามีอะไรเราใช้อย่างนั้นไม่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากมายอย่างในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าก็จะมีคนขอมาตั้งโรงกลั่นน้ำมันชนิดนี้ได้อยู่ดีเพราะมันเป็นของดี
มีข้อมูลออกมาว่าจริงๆ แล้วน้ำมันของไทยคุณภาพดีมาก
ใช่ครับ โดยเฉพาะน้ำมันในอ่าวไทย ซึ่งมาเลเซียเขาเรียกแหล่งน้ำมันตรงอ่าวไทยว่า แหล่งทาปิสซึ่งอยู่นอกชายฝั่งรัฐตรังกานูไป 200 กิโลเมตรในอ่าวไทยเป็นน้ำมันที่คุณภาพดี ที่สุดในโลกเนื่องจากมีมลภาวะต่ำ จึงแพงที่สุดในโลกด้วย แพงกว่าน้ำมันที่เรียกว่าเบรนท์ ทะเลเหนือที่อังกฤษถึง 7 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งข้อมูลตรงนี้ตรวจสอบได้จากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น บลูมเบิร์ก สถาบันปิโตรเลียมออสเตรเลีย (Australia Institute of Petroleum) ซึ่งมันก็ตรงข้ามกับที่กระทรวงพลังงานพูดทั้งหมด และเป็นเรื่องที่น่ากังขา
เขายังบอกอีกว่าน้ำมันของไทยกลั่นแล้วได้เบนซินเยอะ แต่ไทยต้องการใช้ดีเซล ขณะที่จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปี 2555 ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดีเซลจำนวน กว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดการส่งออกน้ำมันเบนซินมีเพียง 4 หมื่นล้านบาท ในเมื่อเราส่งออกน้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซินหลายเท่าตัว ดังนั้นคำกล่าวอ้างว่ามีเบนซินล้นเกินจึงต้อง ส่งออกมันไม่ใช่ แต่ท่านตั้งใจผลิตทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลเพื่อการส่งออกให้คนทั้งอาเซียน ที่สำคัญราคาที่ส่งออกยังถูกว่าราคาที่ขายคนไทยถึงลิตรละ 2 บาทโดยประมาณ เพราะเป็นราคาที่ถูกควบคุมโดยกลไกการแข่งขันจากโรงกลั่นสิงคโปร์
ทั้งนี้ประเทศที่ไทยส่งออกทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินให้สิงคโปร์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ที่น่าสนใจอีกอย่างคือประเทศซาอุดิอาระเบียอยู่ในอันดับที่ 12 ในการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากไทย น่าตกใจไหม ? วันนี้น้ำมันดิบที่ขุดในประเทศไทย ส่งออกไปอเมริกา จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แต่เรานำเข้าน้ำมันดิบเข้าจากตะวันออกกลาง กลั่น เสร็จส่งไปตะวันออกกลาง ที่สำคัญประเทศที่เราส่งน้ำมันออกไปนั้นราคาน้ำมันถูกกว่าราคา น้ำมันในบ้านเราแทบทั้งนั้น และเราก็ส่งออกในราคาที่ถูกกว่าราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายคน ไทย เพราะกลไกกึ่งผูกขาดโรงกลั่นในประเทศที่เป็นอยู่นั่นเอง
ที่ผ่านมา ปตท.และกระทรวงพลังงาน พยายามบอกว่าราคาน้ำมันบ้านเราแพง เพราะต้นทุน การผลิตสูง
ในเอกสารของ Society of Petroleum Engineer รวมทั้งเอกสารของเชฟรอน ก็ระบุตรงกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ขุดเจาะน้ำมันได้ในต้นทุนที่ต่ำ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Slim Hole ซึ่งเป็นเทคนิคที่ต้นทุนต่ำ ขุดเจาะได้เร็ว สามารถเข้าถึงทุกโซนที่มีน้ำมัน และ สามารถเอาน้ำมันขึ้นมาได้มากที่สุด ซึ่งสถิติการขุดเจาะที่เร็วที่สุดในโลกเกิดขึ้นในประเทศ ไทย ในปี 2542 โดยบริษัทเชฟรอน โดยใช้เวลาขุดเจาะแค่ 46 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่ถึง 2 วันเลย ทั้งนี้ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การขุดเจาะแต่ละจุดจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน มีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 150 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเทคนิคก้าวหน้าขึ้น ใช้เวลาแค่ 6 วัน เป็นค่าใช้จ่ายแค่ 20 ล้านบาท แต่กระทรวงพลังงานพูดคนละเรื่องเลย
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลต้นทุนของบริษัทเฮส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของนิวยอร์ก มาขุด เจาะน้ำมันในภาคอีสานบ้านเรา ซึ่งเฮสรายงานว่า ต้นทุนการขุดเจาะน้ำมันดิบนั้นประมาณ 8-10 เหรียญต่อบาร์เรล อยากรู้ว่าต้นทุนต่อบาร์เรลเป็นกี่บาท ก็เอา 10 เหรียญคูณด้วย 30 บาท ก็เท่ากับ 300บาทต่อบาร์เรล ซึ่ง 1 บาร์เรลเท่ากับ 159ลิตร เพราะฉะนั้นต้นทุนขุดเจาะน้ำมันดิบก็ตกลิตรละ 1.88บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีต้นทุนต่ำมาก ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปเขามาขายเราที่ลิตรละเกือบ 50 บาท ถามว่ามันเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าดูตัวเลขของอเมริกาซึ่งเป็นประเทศค่าครองชีพสูงมาก น้ำมันสำเร็จรูปของเขาราคาแค่ลิตรละ 25-29 บาทเท่านั้น
ปัญหาของไทยขณะนี้คือการผูกขาดด้านพลังงาน
คือปัจจุบันเราปล่อยให้ ปตท. สามารถเข้าไปถือหุ้นในทุกโรงกลั่น เหลือเอสโซ่เพียงรายเดียวที่ ปตท.ไม่ได้เข้าไปถือหุ้น ซึ่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน และการเข้าไปถือหุ้นของ ปตท.ในเกือบทุกโรงกลั่นนั้นทำให้ราคาน้ำมันที่ออกมาจากโรงกลั่นทุกแห่งนั้นเป็นราคาที่คุยกันไว้แล้ว ส่วนเอสโซ่มีกำลังการกลั่นเพียง 13% คงไม่สามารถจะต่อกรกับ ปตท.ได้อย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้อย่าถามหากลไกตลาดในธุกิจพลังงานไทยเพราะมันไม่มีอยู่จริง!
หลายๆ ประเทศมีกฎหมายและระเบียบที่ป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ เข้าไปกอบโกยทรัพยากรด้านพลังงานอย่างไม่เป็นธรรม
ใช่ครับ อย่างกฎหมายปิโตรเลียมของอินโดนีเซียดีกว่าเรามาก กฎหมายอินโดนีเซียระบุไว้เลยว่าน้ำมันที่บริษัทพลังงานขุดเจาะในประเทศอินโดนีเซียจะต้องมาใช้ในประเทศอินโดนีเซียให้เพียงพอเสียก่อนจึงส่งออกได้ แต่เมืองไทยใช้พอไม่พอ ขุดขึ้นมาก็ส่งออกเลย เพราะคิดว่าทรัพย์สินนี้ไม่ใช่ของประชาชน ทั้งที่กระทรวงพลังงานอยู่ในฐานะผู้ดูแลทรัพย์สมบัติของชาติ ผมเรียกว่าผู้จัดการมรดกก็แล้วกัน ส่วนประชาชนคือเจ้าของมรดก กระทรวงพลังงานก็พยามยามบอกว่าไม่มีมรดกเหลือแต่ท่านเอามรดกไปให้คนอื่น มรดกเหล่านั้นถูกส่งออกไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา ในอินโดนีเซียนี่เมื่อบริษัทพลังงานเอาอุปกรณ์เข้ามาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแท่นขุดเจาะหรืออะไร อุปกรณ์เหล่านี้ตกเป็นของประเทศทันที แล้วก็ให้เอกชนเอาน้ำมันส่วนหนึ่งไปเพราะถือว่าแท่นขุดเจาะเป็นของหลวงแล้ว รัฐก็ผ่อนคืน เอกชนด้วยปริมาณปิโตรเลียมจำนวนหนึ่งเพราะถึงจะให้สัมปทานไปแล้วเขาก็ไม่ได้มองว่าน้ำมันเป็นของเอกชนนะ ปิโตรเลียมที่ยังไม่ได้ขุดก็ยังเป็นของรัฐ เมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็ยังเป็น ของรัฐอยู่ จนรัฐบาลเขาเก็บค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไรและภาษีเรียบร้อย ส่วนที่เหลือจึงเป็นของเอกชน ผิดกับประเทศไทยเอาอุปกรณ์มาตั้งก็ลดภาษีให้หมด นำเข้าฟรีหมด แต่อุปกรณ์พวกนี้เป็นของบริษัทเอกชน ใครจะเข้าไปในเขตแท่นขุดเจาะไม่ได้การตรวจสอบจากภาคประชาชนจึงทำได้ยาก
นอกจากนั้น ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการขุดน้ำมันของไทยที่ส่งให้กับรัฐนั้นถือว่า ต่ำ ที่สุดในอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งที่เราผลิตได้เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ผลิตได้มากได้เป็น 3 เท่าของประเทศพม่า ผลิตได้ 3 เท่าของบรูไนทั้งก๊าซและน้ำมันดิบ แต่เราได้ผลประโยชน์ต่ำ กว่าทั้ง 2 ประเทศ เหมือนกับเรามีต้นมะม่วงที่บ้าน แต่เราไม่มีบันไดที่จะปีนขึ้นไปเก็บ เราก็อนุญาตให้คนที่มีบันไดปีนขึ้นไปเก็บ อย่างพม่า มีมะม่วง 100 ลูก คนมาช่วยเก็บได้ส่วนแบ่งไปยังไม่ถึง 20 ลูกเลย ผลประโยชนส่วนใหญ่จึงตกกับประเทศเพราะเขาเป็นเจ้าของทรัพยากรอันมีค่า แต่ประเทศไทยให้คนอื่นมาเก็บไปเกือบหมดต้น แล้วเราไม่พอกินจึงต้องไปซื้อมาเพิ่ม
จุดหนึ่งที่เป็นช่องให้คนอื่นมาล้วงทรัพยากรของเราก็คือผู้ที่เกี่ยวข้องปล่อยให้กฎหมายล้าสมัย ปัจจุบันเรายังใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 อยู่เลย ซึ่งในปี 2514นี่ราคาน้ำมันยังไม่ถึงลิตรละบาทเลย ตอนนั้นน้ำมันดิบราคาแค่บาร์เรลละ 1 เหรียญ ซึ่ง 1 บาร์เรลมี 159 ลิตร ราคามันถูกมาก ซึ่งเมื่อราคามันถูก ผลประโยชน์ตอบแทนเข้าประเทศน้อยก็เป็นเรื่องปกติ แต่วันนี้ราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาขึ้นไป 100 เท่า แต่ท่านไม่แก้ไขกฎหมาย เพียงแค่กระทรวงพลังงานนิ่งเฉยปล่อยให้กฎหมายล้าสมัยประเทศชาติก็เสียประโยชน์แล้ว ในปี 2514 เราเก็บค่าภาคหลวงจากการทำปิโตรเลียม 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียม และเก็บภาษี 50% ขณะที่ประเทศอื่นก็มีค่าภาคหลวงและเก็บภาษีในลักษณะเดียวกับไทย แต่เขาจะมีส่วนแบ่งกำไรหรือส่วนแบ่งผลผลิตอีกต่อหนึ่งด้วย อย่างพม่าจะมีส่วนแบ่งกำไรอีก 80% ก่อนที่จะหักภาษี สมมุติขุดน้ำมันได้ 100 บาท เขาเอาเข้ารัฐไปเลย 10 บาทก่อน จากนั้นเขาจะดูว่ามีกำไรเท่าไหร่ เอาไปอีก 80% แล้วเหลือเท่าไหร่เอามาเสียภาษีอีก 30% ขณะที่ประเทศไทยไม่มีส่วนแบ่งกำไรหรือส่วนผลผลิตอะไรจากปิโตรเลียมเลย
ทราบว่าหลังจากที่หม่อมนำข้อมูลด้านพลังงานที่ปรากฏบนเว็บไซต์ต่างๆ มาเปิดเผย ข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยราชการบางแห่งก็หายไป
ครับ ผมก็ห่วงว่าพูดไปข้อมูลในเว็บไซต์ของหน่วยราชการจะโดนลบเพราะที่ผ่านมาหลังจากที่เราเอาข้อมูลมาเปิดเผย ข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ก็ถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อมูลหายไปจำนวนหนึ่ง ผมในฐานะเลขานุการอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ก็คงต้องมีการทวงถาม เพราะขณะที่กรรมาธิการเราตรวจสอบเรื่องนี้ข้อมูลก็หายไปบางส่วนซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงพิรุธบางอย่าง
ต้องเรียนว่าผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับท่านนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน หรือ ปตท.ผมเพียงแต่เอาข้อมูลมากางให้ท่านดูว่าสิ่งที่ท่านกล่าวอ้างมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทั้งในและต่างประเทศที่ปรากฏ ผมต้องใช้คำว่ากระทรวงกล่าวอ้างเพราะที่ผ่านมากระทรวงไม่เคยแสดงเอกสารหลักฐานอะไรเลย แต่ผมมีเอกสารมาแสดงทุกครั้ง ตอนนี้เราว่ากันด้วยข้อมูล ซึ่งท่านเถียงกับข้อมูลนะครับ ไม่ได้เถียงกับผม ท่านไม่ได้ขัดแย้งกับผม แต่ขัดแย้งกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร เอกสารรายงานต่อผู้ถือหุ้นของผู้รับสัมปทาน และเอกสารอื่นๆ อีกมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มันสามารถตรวจสอบได้นะครับ แล้วผมเองก็ไม่สบายใจกับเงินภาษีที่ผมเสียไปเพื่อจ่ายเป็นงบประมาณของกระทรวงพลังงาน เพราะข้อมูลที่ท่านให้ผมไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทำให้ผมและคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา สงสัยว่าท่านมีความประสงค์ใดต่อการให้ข้อมูลเช่นนี้กับประชาชน ผมว่าเมื่อความจริงปรากฏประเทศไทยคงต้องปฏิรูปกระทรวงพลังงานขนานใหญ่ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ดูแลมรดกล้ำค่าของแผ่นดินซึ่งก็ทรัพยากรน้ำมันดิบและก๊าซ ธรรมชาติซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน
หมายเหตุ : โปรดติดตาม บทสัมภาษณ์ 'ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี' ตอนต่อไป กับการแฉลากไส้ถึงกลไกราคาพลังงานที่ถูกบิดเบือน
Bookmarks