เตือนผิดกม. ไฟรถวงแหวน (ไทยโพสต์)
ตร.เตือนติดไฟหน้ารถ "ทรานส์ฟอร์เมอร์" ใส่ไฟวงแหวนสองชั้นมีสีสัน ผิดกฎหมาย หากเจอจับทันที อนุญาตให้ใช้สีขาวและสีเหลืองอ่อนเท่านั้น จี้ กรมการขนส่งทางบกเร่งแก้ระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ติดไฟซีนอนให้ชัดเจน เหตุแสงสว่างจ้าเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่รายอื่น แต่ตำรวจจับไม่ได้
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสะอาด ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการกวดขันจับกุมการดัดแปลงไฟหน้ารถยนต์ให้มีความสว่างมากกว่า ปกติว่า ตำรวจมีการตั้งด่านตรวจจับรถยนต์ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ที่ผ่านมาได้เรียกตรวจรถยนต์ที่ติดไฟซีนอน ซึ่งมีความสว่างมากและรบกวนสายตาผู้ขับขี่รายอื่นจนเกิดอันตราย แต่ พบว่าส่วนใหญ่ติดตั้งอย่างถูกต้องคือ ติดไฟซีนอนที่มีแสงสีขาวหรือเหลืองอ่อน กำลังไฟไม่เกิน 50 วัตต์ และทิศทางการส่องไฟเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หากพบว่ามีการใช้ไฟสีอื่น ๆ เช่น สีฟ้า สีน้ำเงิน สีเขียว สีม่วง สีเหลืองเข้ม เป็นต้น ถือว่าผิดกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดีทันทีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องความสว่างของไฟซีนอนมีปัญหาในข้อกฎหมายที่ต้องเร่งปรับปรุง แก้ไขให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีล้ำสมัยต่อไป ทั้งนี้ เคยแจ้งไปยังกรมการขนส่งทางบกให้แก้ไขกฎระเบียบการควบคุมไฟซีนอนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
สำหรับกรณีการขายสินค้าตัวใหม่ของไฟซีนอนที่เป็นไฟวงแหวนสองชั้น หรือที่นิยมเรียกกันว่าไฟทรานส์ฟอร์เมอร์ มีลักษณะคล้ายดวงตาของหุ่นยนต์ในภาพยนตร์เรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ และมีหลายสีนั้น พล.ต.ต.อุทัยวรรณ กล่าวว่า หากใช้สีอื่น ๆ นอกเหนือจากสีขาวและสีเหลืองอ่อนก็ผิดกฎหมาย ซึ่งตำรวจเข้มงวดตรวจตราในเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงขอเตือนให้หลีกเลี่ยงการดัดแปลงแก้ไขไฟหน้ารถ ไม่ควรใช้ไฟซีนอน ซึ่งทำให้แสงไฟที่ส่องออกมาผิดเพี้ยนหรือสว่างจ้าเกินไปจนรบกวนสายตาผู้อื่น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น
"ผม คิดว่าถึงเวลาแล้วที่กรมการขนส่งทางบกจะต้องเร่งหามาตรการควบคุมการติดตั้ง ไฟซีนอนให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้หลอดไฟทั้งรูปแบบการกระจายของแสง แนวจำกัดของแสงอย่างชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถเอาผิดกับผู้ดัดแปลงไฟหน้ารถจนเป็นอันตรายต่อ ผู้อื่นได้" พล.ต.ต.อุทัยวรรณ กล่าว
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับโคมไฟรถยนต์ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มีดังนี้ โคมไฟแสงพุ่งไกล ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง สูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.6 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาว มีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 100 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องไม่สูงกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบ และไม่เฉไปทางขวา
โคมไฟแสงพุ่งต่ำ ให้ติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวง สูงจากพื้นทางราบถึงจุดศูนย์กลางดวงโคมไม่น้อยกว่า 0.6 เมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร โคมไฟทั้งสองข้างต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาว มีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 50 วัตต์ มีแสงสว่างให้เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.2 เมตร ในระยะ 7.5 เมตร และไม่เฉไปทางขวา
ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกแก้ไขความสูงไฟหน้ารถจากพื้นราบถึงจุดศูนย์ กลางดวงโคม จากเดิมกำหนดไม่เกิน 1.35 เมตร เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 1.2 เมตร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทกระบะ หรือโฟร์วีล เมื่อบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก รถยนต์จะเงยสูงขึ้นไปอีก ทำให้ทิศทางของแสงไฟหน้ารถรบกวนรถยนต์คันอื่น ๆ เรื่องนี้กลับถูกมองข้ามและไม่แก้ไขให้ตรงตามมาตรฐานสากล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Bookmarks