โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 มิถุนายน 2551 18:37 น.
ปตท.เผยรัฐบาลต้องแบกรับภาระก๊าซ Lpg สูงถึง 30 บาทต่อกิโลกรัม คาดปีนี้ อาจต้องนำเข้าเพิ่มอีก 2-3 แสนตัน โดยคาดว่าในปีหน้า อาจจะต้องนำเข้าสูง 0.5-1.0 ล้านตัน พร้อมยันราคาน้ำมันในประเทศ 1-2 วันนี้ยังไม่ปรับตัวแน่
วันนี้ (19 มิ.ย.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาก๊าซหุงต้ม (lpg) ตลาดโลก ในเดือน มิ.ย.นี้ ปรับตัวสูงขึ้นไปแตะระดับ 903 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ ราคาขายในประเทศ ที่ถูกกำหนดไว้ที่320 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้รัฐบาล ต้องแบกรับภาระส่วนต่างจากการนำเข้าเพิ่มถึง 600 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ ประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม
"ถึงแม้ว่า รัฐบาลจะปรับโครงสร้างตลาดก๊าซ Lpg ออกเป็น 2 ราคา ในเดือนก.ค.นี้ แต่การขายในประเทศที่ยังต่ำกว่าราคาตลาดโลกและถูกกว่าราคาน้ำมัน ทำให้ความต้องการขาย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ต้องนำเข้า Lpg ประมาณ 2-3 แสนตัน และต้องนำเข้าในปีหน้า สูงถึง 500,000-1,000,000 ตัน หรือ คิดเป็นมูลค่า 1-2 หมื่นล้านบาท"
อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ มองว่ารัฐบาลคงไม่สามารถสกัดกั้นการลักลอบส่งออก Lpg ไปขายในประเทศเพื่อบ้านตามแนวชายแดนได้ เนื่องจากราคาในประเทศที่ต่ำกว่าตลาดโลก ยังคงเป็นแรงจูงใจให้มีการลักลอบส่งออกมากขึ้น ดังนั้นเห็นว่า วิธีการปัญหาที่ดีที่สุด รัฐบาลควรปรับโครงสร้างราคา Lpg ให้สะท้อนความเป็นจริง
สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ปตท.จะยังตรึงราคา และไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง1 - 2 วันนี้ ถึงแม้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะอ่อนตัวลง แต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบอยู่ที่130 ดอลลาร์ต่อบาเรล น้ำมันเบนซินอยู่ที่140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่165 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร จึงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ ปตท.ยังมองว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ไปแตะระดับ150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่คงไม่ปรับสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่สามารถรับราคาน้ำมันในระดับดังกล่าวได้ ส่วนกรณีซาอุดีอาระเบียเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน นายประเสริฐ กล่าวว่า จะช่วยคลายความกังวลต่อปริมาณน้ำมันแต่คงไม่ช่วยให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย
Bookmarks