สรุปผลการค้นหา 1 ถึง 7 จากทั้งหมด 7

กระทู้: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

  1. #1
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Feb 2008
    User ID
    1303
    Status
    Offline
    โพส
    194

    มาตรฐาน ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    บทความนี้ผมคัดลอกมาจากเวป Strom Blub เห็นว่ามีประโยชน์ต่อคนทั่วไปดี อีกทั้งยังช่วยไขความกระจ่างในการเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ยังไม่เหมาะสมของหลายๆท่าน ยังไงก็ของอนุญาติทางเวป Strom เพื่อนำบนความนี้มาเผยแพร่แก่เพื่อนๆผู้ใช้รถทุกท่านครับ

    การเลือกและใช้น้ำมันเครื่อง

    คุณภาพของน้ำมันเครื่องมีความสำคัญทั้งต่อกำลังและความทนทานของเครื่องยนต์ การเลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำ หรือยืดระยะเวลาเปลี่ยนจากปกติ ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดมีกำหนดการใช้งานที่เหมาะสม ไม่สามารถยืดอายุหรือระยะเวลาออกไปตามสภาพเศรษฐกิจได้การเลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำ หรือยืดระยะเวลาเปลี่ยนจากปกติ อาจไม่มีผลให้ทราบในทันทีหากเครื่องยนต์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะกำลังมักลดลงไม่มาก และในกรณีที่อายุการใช้งานของเครื่องยนต์สั้นลงกว่าจะทราบก็อีกนาน นอกจากนั้นยังมีโอกาสน้อยมากที่เครื่องยนต์จะพังในทันทีจากการใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำ หรือยืดระยะเวลาเปลี่ยนจากปกติ

    การเลือกน้ำมันเครื่องไม่จำเป็นต้องดูยี่ห้อหรือรุ่นว่าเด่นดังหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติที่แท้จริงของน้ำมันเครื่องมีระบุอยู่ข้างกระป๋องเสมอน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แม้ราคาแพง แต่ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรอาจประหยัดกว่าก็เป็นได้

    เลือกน้ำมันเครื่องด้วย 3 คุณสมบัติ
    ชนิด & คุณภาพ & ความหนืด
    ต้องพิจารณาทั้ง 3 คุณสมบัติเสมอ ไม่ใช่เลือกแค่ชนิดหรือยี่ห้อ-รุ่นเท่านั้น ไม่ควรเลือกตามคำร่ำลือหรือการโฆษณา และไม่สามารถสรุปการเลือกแค่ 1-2 คุณสมบัติ เช่น เลือกเพราะเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ โดยไม่สนใจเกรดคุณภาพหรือความหนืด หรือเลือกเพราะเกรดคุณภาพที่พึงพอใจ โดยไม่สนใจชนิดและเกรดความหนืด เพราะน้ำมันเครื่องแต่ละรุ่นมีคุณสมบัติทุกด้านแตกต่างกัน น้ำมันเครื่องสังเคราะห์บางรุ่นมีอายุการใช้งานนานกว่าก็จริง แต่อาจมีเกรดคุณภาพต่ำกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดาก็เป็นได้

    1. ชนิด - เกี่ยวข้องกับอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่อง
    แบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก โดยตัดน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปที่ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐาน ซึ่งผลิตจากไขพืช-สัตว์ เพราะคุณภาพต่ำเกินไป แต่เพิ่มชนิดที่ 3 ขึ้นมา คือ น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ที่ได้จากการผสมน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์กับชนิดธรรมดา

    น้ำมันเครื่องธรรมดา ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม แพร่หลายที่สุด กระป๋องบรรจุ 4-5 ลิตร ราคาประมาณ 300-600 บาท


    น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ผลิตจากการผสมน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดธรรมดากับชนิดสังเคราะห์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และแตกต่างกันออกไปในแต่ละรุ่น กระป๋องบรรจุ 4-5 ลิตร ราคาประมาณ 500-800 บาท

    น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานที่สังเคราะห์ขึ้นจากน้ำมันปิโตรเลียม กระป๋องบรรจุ 4-5 ลิตร ราคาประมาณ 800-2,200 บาท

    ชนิดของน้ำมันเครื่องสามารถบอกได้เพียงคุณสมบัติด้านอายุการใช้งานเป็นหลัก ไล่เรียงกันลงมาจากน้อยไปหามาก และไม่ใช่บทสรุปว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ต้องมีคุณภาพโดยรวมดีกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดาเสมอไป เพราะยังต้องเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติด้านอื่นอีก เช่น ความลื่น การชะล้าง ฯลฯ จึงต้องดูที่เกรดคุณภาพและคุณสมบัติด้านอื่นด้วย

    ปัจจุบันนี้ น้ำมันเครื่องเกรดคุณภาพตาม API สูงๆ เช่น API SJ / API SL /API CH-4 / API CI-4 ทั้งชนิดธรรมดา กึ่งสังเคราะห์ หรือสังเคราะห์ สามารถใช้งานเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลเมตร ในสภาพการใช้งานปกติ หากการจราจรติดขัดมากจริงๆ หรือเส้นทางมีฝุ่นมาก ก็อาจจะลดลงมาเหลือ 8,000 กิโลเมตรได้

    โดยระยะทางข้างต้นได้ประยุกต์ลดลงตามสภาพอากาศ ฝุ่น และสภาพการจราจรของเมืองไทย ที่ดุเดือดกว่าหลายประเทศ ซึ่งน้ำมันเครื่องทุกชนิดมีอายุการใช้งานในต่างประเทศตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ยืนยาวกว่านี้อีกประมาณ 20-100 เปอร์เซ็นต์ เช่น 10,000, 14,000 และ 20,000 กิโลเมตร ตามลำดับของชนิด ดังนั้น ถ้าอยากใช้น้ำมันเครื่องเป็นระยะทางมากกว่าที่แนะนำไว้ข้างต้นบ้างก็สามารถทำได้ การเลือกใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ แม้ราคาต่อลิตรจะแพงกว่า แต่เมื่อรวมค่าน้ำมันเครื่อง ไส้กรองน้ำมันเครื่อง และค่าแรงในการเปลี่ยนถ่าย หากคำนวณเป็นระยะทางต่อกิโลเมตรแล้ว อาจถูกกว่าการใช้น้ำมันเครื่องธรรมดาก็เป็นได้

    น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ แท้&เทียม
    เป็นชนิดสังเคราะห์ 100% หรือมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ข้างกระป๋องหรือไม่ ?การเลือกซื้อน้ำมันเครื่องต้องเชื่อมั่นในแหล่งจำหน่าย ยี่ห้อ และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของไทย เพราะไม่สามารถทดสอบคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องด้วยสายตาหรือการสัมผัส แต่ต้องทำการทดสอบในห้องทดลองทางเคมีเท่านั้น

    การระบุข้างกระป๋องว่าเป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% ยังขาดความชัดเจนว่าน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปทุกหยดในกระป๋องนั้นมาจากการสังเคราะห์ 100% ทั้งตัวน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานและสารเพิ่มคุณภาพจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงการใช้น้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์ 100% แต่เมื่อจะผสมสารเพิ่มคุณภาพบางตัวกลับไม่สามารถละลายได้ จึงต้องละลายผสมสารเพิ่มคุณภาพกับน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดธรรมดาในปริมาณน้อยๆก่อน แล้วค่อยนำไปผสมกับน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์ น้ำมันเครื่องกระป๋องนั้นก็ไม่ถือว่าทุกหยดได้จากการสังเคราะห์

    น้ำมันเครื่องสำเร็จรูปที่ระบุว่าเป็นชนิดสังเคราะห์ 100% ส่วนใหญ่เลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์ โพลีแอลฟาโอลีฟิน (POLYALPHAOLEFIN-PAO) ซึ่งไม่สามารถละลายสารเพิ่มคุณภาพบางตัวหรือละลายได้ไม่ดี จึงอาจมีการละลายสารเพิ่มคุณภาพด้วยน้ำมันหรือสารอื่นก่อนผู้ผลิตบางรายเน้นความประหยัด โดยนำสารเพิ่มคุณภาพไปผสมกับน้ำมันหล่อลื่นชนิดธรรมดาก่อน เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานจึงเกิดข้อกังขาว่า จะเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดสังเคราะห์ 100% ได้อย่างไร ในเมื่อมีน้ำมันชนิดธรรมดาผสมอยู่ด้วยจากการช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพ

    มีผู้ผลิตไม่มากนักที่ยอมลงทุนนำสารเพิ่มคุณภาพไปละลายกับน้ำมันหล่อลื่นชนิดสังเคราะห์อื่นที่มีราคาแพง ไม่เหมาะกับการใช้งานในเครื่องยนต์รถยนต์ แต่ทำละลายได้ดี เช่น น้ำมันหล่อลื่นเครื่องบินเจ็ต (DIBASICESTER) เมื่อนำไปผสมกับน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์ ก็จะกลายเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดสังเคราะห์ 100% ทุกหยดจริงๆ ต่างจากกรณีแรกที่มีน้ำมันชนิดธรรมดาช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพผสมอยู่ด้วย

    ในการควบคุมและประชาสัมพันธ์ไม่มีการกำหนดว่า การระบุว่าสังเคราะห์ต้องเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดสังเคราะห์ 100% จริงๆ เพราะเน้นเพียงการใช้น้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานแบบสังเคราะห์แท้ๆเป็นหลักก็เพียงพอแล้ว ส่วนกรณีที่ใช้น้ำมันหล่อลื่นชนิดธรรมดาช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพผสมอยู่บ้าง ก็ไม่น่าจะเป็นการหลอกลวง เพราะมักจะใช้ในปริมาณน้อยมาก และถือว่าเป็นเพียงตัวช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพเท่านั้น

    ในการเลือกใช้ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีน้ำมันธรรมดาช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพผสมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มีปริมาณน้อยมาก และไม่น่าจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมลดลง คุณภาพที่แท้จริงอยู่ที่น้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานและสารเพิ่มคุณภาพที่ผู้ผลิตเลือกใช้มากกว่า กรณีที่มีการผสมน้ำมันธรรมดาเข้าไปในปริมาณมาก และไม่ได้เน้นแค่ช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพ ต้องถือว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดกึ่งสังเคราะห์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการเปิดเผยกันว่ามีน้ำมันหล่อลื่นธรรมดาผสมอยู่กี่เปอร์เซ็นต์

    ==========>>>

  2. #2
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Feb 2008
    User ID
    1303
    Status
    Offline
    โพส
    194

    มาตรฐาน Re: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    2. เกรดคุณภาพ
    เกี่ยวข้องกับคุณภาพและประสิทธิภาพเกือบทุกด้านกำหนดขึ้นจากการทดสอบคุณสมบัติด้านต่างๆ เช่น หล่อลื่น ระบายความร้อน ป้องกันสนิม และชะล้างทำความสะอาด ฯลฯมีหลายสถาบันทั่วโลกทดสอบและตั้งมาตรฐานหรือเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง เช่น

    Api - American Petroleum Institute
    Sae - Society Of Automotive Engineers
    Us Military Classification - สถาบันทางทหารของสหรัฐอเมริกา
    Astm - American Society For Testing And Materials
    Ccmc - Comittee Of Common Market Construction

    นอกจากนั้น หลายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ก็มีการทดสอบและกำหนดมาตรฐานของน้ำมันเครื่องขึ้นเองในการใช้งานสำหรับรถยนต์ทั่วโลก ผู้ผลิตน้ำมันเครื่องและผู้บริโภค นิยมเลือกใช้มาตรฐานหรือเกรดคุณภาพของสถาบัน Api - American Petroleum Institute เพราะชัดเจนและสะดวกทั้งในการผลิตหรือเลือกใช้ โดยมีการระบุไว้ข้างกระป๋องน้ำมันเครื่องเสมอ

    การแบ่งเกรดคุณภาพมี 2 กลุ่มหลัก คือ
    เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน ตามหลังอักษรย่อ Api ใช้ตัวอักษรย่อ S (station Service-spark Ignition) นำหน้าเสมอ แล้วตามด้วยตัวอักษรย่อที่บอกเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง ไล่เรียงตั้งแต่แย่สุดคือ A ขึ้นไปเรื่อยๆ B, C...h และ J เช่น Api Se, Api Sh จนถึง Api Sj โดยไม่มี Api Si ข้ามไปเพราะตัว I คล้ายเลข 1 (เช่นเดียวกับที่นั่งบนเครื่องบินที่ไม่มีตัว I) มี Sj สูงสุด รองลงมาเป็น Sh และ Sg ส่วนเกรดคุณภาพต่ำๆอย่าง Sa และ Sb ปัจจุบันไม่นิยมผลิต เพราะไม่เหมาะกับเครื่องยนต์เบนซินยุคใหม่

    เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ตามหลังอักษรย่อ Api ใช้ตัวอักษรย่อ C (commercial Service-compression Ignition) นำหน้าเสมอ แล้วตามด้วยตัวอักษรย่อที่บอกเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง ไล่เรียงตั้งแต่แย่สุดคือ A ขึ้นไปเรื่อยๆ B, C...f และ G เช่น Api Cd,api Ce จนถึง Api Cf-4 มี Cg-4 สูงสุด รองลงมาเป็น Cf-4 และ Ce (เลข 4 ตามท้ายหมายถึง เน้นใช้สำหรับเครื่องยนต์ 4 จังหวะ) ส่วนเกรดคุณภาพต่ำๆอย่าง Ca และ Cb ปัจจุบันไม่นิยมผลิต เพราะไม่เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่

    ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีเกรดคุณภาพสูงสุดหรือใกล้สูงสุด ทว่าไม่จำเป็นต้องเลือกสูงสุด หากไม่มีโอกาส แต่ควรให้ใกล้เคียงระดับสูงสุดไว้เครื่องยนต์เบนซิน ควรเลือก Api Sj หรือ Sh อนุโลม Api Sg ได้ เครื่องยนต์ดีเซล ควรเลือก Api Cg-4 หรือ Cf-4 อนุโลม Api Ce ได้หากน้ำมันเครื่องผ่านการทดสอบจาก Api นอกจากจะมีการระบุเป็นตัวอักษรย่อ ยังต้องมีสัญลักษณ์รูปวงกลมหรือโดนัทระบุรายละเอียดด้วย วงนอกเป็นมาตรฐาน Api Service S.../c... และวงกลมตรงกลางระบุมาตรฐานความหนืดตาม Sae โดยถ้าน้ำมันเครื่องนั้นช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ก็จะมีการระบุคำว่า Energy Conserving ไว้บริเวณวงล่างของโดนัทด้วย

    ถ้าไม่มีสัญลักษณ์รูปโดนัทแสดงว่าไม่ผ่านการทดสอบจาก Api แต่เป็นการทดสอบเองหรือสถาบันอื่นทดสอบ โดยใช้มาตรฐานอ้างอิงจาก Api แล้วระบุผลออกมาเป็นตัวอักษรย่อ Api S.../c...ไม่มีสัญลักษณ์รูปโดนัทข้างกระป๋อง

    รายละเอียดการกำหนดเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่องโดย Api มีดังนี้
    เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน
    Sa - เป็นน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานล้วนๆ ไม่มีการเติมสารเพิ่มคุณภาพเลย ปัจจุบันยกเลิกแล้ว
    Sb - ประกาศใช้ปี 1930 เพิ่มเพียงสารเพิ่มคุณภาพบางชนิด เช่น สารป้องกันการสึกหรอ สารป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปัจจุบันยกเลิกแล้ว
    Sc - ประกาศใช้ปี 1964 เพิ่มสารชะล้าง ป้องกันตะกอนและสนิม
    Sd - ประกาศใช้ปี 1968 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก Sc ไม่ควรเลือกใช้ในปัจจุบัน
    Se - ประกาศใช้ปี 1972 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก Sd ไม่ควรเลือกใช้ในปัจจุบัน
    Sf - ประกาศใช้ปี 1980 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก Se และเน้นป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนมากขึ้น ไม่ควรเลือกใช้ หากไม่จำเป็น
    Sg - ประกาศใช้ปี 1988 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก Sf เน้นป้องกันการเกิดตะกอนตม-ยางเหนียวเพิ่มขึ้น ลดการเกิดเขม่าบนหัวลูกสูบ-ห้องเผาไหม้ และลดการสึกหรอของวาล์ว ยังพอเลือกใช้ได้ถ้าจำเป็น
    Sh - ประกาศใช้ปี 1992 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก Sg เน้นการลดมลพิษและลดการสึกหรอเพิ่มขึ้น สามารถเลือกใช้ได้
    Sj - ประกาศใช้วันที่ 15 ตุลาคม 1996 เป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่มีเกรดคุณภาพสูงสุดในปัจจุบัน เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก Sh เน้นการระเหยต่ำ ค่าฟอสฟอรัสต่ำ ป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนดีขึ้น มีอายุการใช้งานนานขึ้น และเน้นการลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ เด่นที่สุดในการเลือกใช้

    ต้องผ่านการทดสอบพิเศษด้วยมาตรฐานเหนือกว่า Api Sh อีก 7 ประการ คือ
    1. จำกัดปริมาณของฟอสฟอรัส
    2. ระดับการระเหยต่ำ
    3. ทดสอบการเกิดเขม่าในอุณหภูมิสูง
    4. ทดสอบการเกิดโฟมในอุณหภูมิสูง
    5. ทดสอบการรวมตัวกับน้ำ
    6. การรวมตัวได้ของสารหล่อลื่น
    7. ความสามารถในการคงสภาพการหล่อลื่นเมื่ออุณหภูมิต่ำ

    น้ำมันเครื่องเกรดคุณภาพ Sj มีคุณสมบัติโดดเด่น คือ
    1. ช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์บำบัดไอเสีย (แคตตาลิติก คอนเวอร์เตอร์) เพราะมีการควบคุมปริมาณของฟอสฟอรัสไว้ต่ำมาก
    2. ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
    3. ลดการปล่อยมลพิษ
    4. คงสภาพทุกช่วงอุณหภูมิได้ดี
    5. การใช้น้ำมันเครื่องต่างชนิดต่างรุ่นผสมกันใช้งานด้วยความจำเป็น มีความเสี่ยงต่อการแยกตัวหรือส่งผลลบน้อย

    เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
    Ca - ประกาศใช้ปี 1940 เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลงานเบา รอบต่ำ ปัจจุบันยกเลิกแล้ว
    Cb - ประกาศใช้ปี 1949 เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลงานเบา-ปานกลาง รอบต่ำ-ปานกลาง ป้องกันการกัดกร่อน และป้องกันคราบสกปรก-เขม่าดีกว่า Ca ปัจจุบันยกเลิกแล้ว
    Cc - ประกาศใช้ปี 1961 เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลงานเบา-ปานกลาง รอบต่ำ-ปานกลาง เกรดคุณภาพทุกด้านเหนือกว่า Cb สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลติดเทอร์โบหรือซูเปอร์ชาร์จได้ดีพอสมควร
    Cd - ประกาศใช้ปี 1965 เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบสูง เกรดคุณภาพทุกด้านเหนือกว่า Cc สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลติดเทอร์โบหรือซูเปอร์ชาร์จได้ดี ปัจจุบันในช่วงปี 1997-1998 ยังมีปิกอัพญี่ปุ่นบางรุ่นระบุให้ใช้น้ำมันเครื่องเกรดคุณภาพ Cd เท่านั้น
    Ce - ประกาศใช้ปี 1984 เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบสูง เกรดคุณภาพทุกด้านเหนือกว่า Cd สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลติดเทอร์โบหรือซูเปอร์ชาร์จได้ดี เน้นการป้องกันเขม่าและป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ลดการสึกหรอ และมีอายุการใช้งานมากขึ้น
    Cf-4 - ประกาศใช้ปี 1990 เกรดคุณภาพทุกด้านเหนือกว่า Ce เน้นการป้องกันเขม่าและลดการสึกหรอเพิ่มขึ้น สามารถเลือกใช้ได้
    Cg-4 - ประกาศใช้ปี 1994 เป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีเกรดคุณภาพเกือบสูงสุด เกรดคุณภาพทุกด้านเหนือกว่า Cf-4 เน้นการลดมลพิษเพิ่มขึ้น
    Ch-4 - ประกาศใช้ปี 1998 เป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีเกรดคุณภาพสูงสุดในปัจจุบัน เกรดคุณภาพทุกด้านเหนือกว่า Cg-4 เน้นการลดมลพิษเพิ่มขึ้น เด่นที่สุดในการเลือกใช้

    น้ำมันเครื่องทุกรุ่นทุกยี่ห้อสามารถใช้กับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลได้ แต่จะดีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับผลการทดสอบตามมาตรฐานของ Api โดยไม่จำเป็นต้องดูเพียงข้างกระป๋องว่าน้ำมันเครื่องรุ่นนี้รุ่นนั้นเหมาะสำหรับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล นั่นเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาด ให้ดูตาม Api เป็นหลักเพราะก่อนน้ำมันเครื่องจะวางจำหน่าย มักถูกนำไปทดสอบกับเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซลตามมาตรฐานของ Api และเมื่อทดสอบออกมาแล้ว ถ้าเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์เบนซินเด่นกว่า ก็จะนำเกรดคุณภาพนั้นระบุไว้นำหน้า ตามหลังด้วยเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เช่น Api Sj/ce แล้วโฆษณาว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน

    ในทางกลับกัน ถ้าทดสอบแล้วผลออกมาว่าเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเด่นกว่า ก็จะนำเกรดคุณภาพนั้นระบุไว้นำหน้า ตามหลังด้วยเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน เช่น Api Cg-4/sf แล้วโฆษณาว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล แต่ถ้าทดสอบแล้วเกรดคุณภาพด้านใดเด่นมาก แต่อีกด้านแย่สุดๆ ก็อาจระบุเฉพาะเกรดคุณภาพที่เด่นเท่านั้น เพราะระบุด้านรองไว้ก็ไม่มีความน่าสนใจหรือเสียชื่อเสียง รวมทั้งอาจระบุชัดเจนว่าเหมาะสำหรับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล เช่น Api Sj หรือ Api Cg-4 ไปเลยก็มีปัจจุบันเริ่มมีน้ำมันเครื่องบางรุ่นในบางยี่ห้อ มีมาตรฐานคุณภาพสูงสุดทั้งจากการทดสอบกับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล Api Sj/ch-4 ออกมาจำหน่ายกันบ้างแล้ว

    ==========>>>

  3. #3
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Feb 2008
    User ID
    1303
    Status
    Offline
    โพส
    194

    มาตรฐาน Re: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    3. เกรดความหนืด
    เกี่ยวข้องกับการสร้างชั้นเคลือบและการไหลเวียน
    เป็นอัตราการไหลของปริมาณน้ำมันเครื่องต่อขนาดและความยาวของรู ต่อหน่วยเวลา ณ อุณหภูมิหนึ่ง เช่น น้ำมัน 60 ซีซี (ลูกบาศก์เซนติเมตร) ไหลผ่านรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.77 มิลลิเมตร ความยาวของรู 12.25 มิลลิเมตร ณ อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสโดยมีหลายหน่วยการวัด เช่น ระบบเมตริก หน่วย cSt เซนติกโตส, สหรัฐอเมริกา หน่วย SUS, SSU วินาทีเซย์โบลต์, อังกฤษ หน่วย RW1 เรดวู๊ด และยุโรป E อิงเลอร์ โดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดและทุกอุณหภูมิการวัด

    หน่วยการวัดข้างต้นเกี่ยวข้องกับงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ล้วนมีความยุ่งยากในการจดจำ ไม่เป็นสากล และไม่สะดวกในการเลือกใช้น้ำมันเครื่องทั่วโลก จึงมีสมาคมในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก กำหนดเกรดความหนืดที่สะดวกและชัดเจนขึ้นใหม่ และง่ายต่อการเลือกของผู้บริโภค เปรียบเทียบกับหลายหน่วยการวัดข้างต้นได้แม่นยำ หน่วยงานนั้นคือ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ SAE - SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERSโดยกำหนดใช้อักษรย่อ SAE ตามด้วยเกรดความหนืดเป็นตัวเลขจำนวนเต็มที่ลงท้ายด้วย 5 หรือ 0 เช่น 15, 30 หรือ 50 ฯลฯ เลขมากยิ่งหนืด เลขน้อยยิ่งใส เช่น 50 หนืดกว่า 40 และ 5 ใสกว่า 20 โดยวัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส (210 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำมันเครื่องที่ไหลเวียนขณะเครื่องยนต์ทำงาน

    ถ้าวัดที่ -18 องศาเซลเซียส (0 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิของอากาศในบางประเทศที่หนาวจัด เพื่อป้องกันปัญหาน้ำมันเครื่องหนืดเกินไปจนไหลไม่ไหว จะตามท้ายตัวเลขด้วยตัวอักษร W-WINTER เช่น 5W, 10W หรือ 20W ฯลฯ การเลือกน้ำมันเครื่องในไทย ให้สนใจตัวเลขเปล่าๆที่ไม่ได้ตามท้ายด้วย W เพราะไม่มีอุณหภูมิติดลบ อากาศปกติก็ 20-35 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว

    การเลือกใช้น้ำมันเครื่องในด้านเกรดความหนืด ต้องเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิอากาศทั่วไป และสภาพความหลวมของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ เพราะต้องมีความหนืดเหมาะสมต่อการไหลเวียนภายในเครื่องยนต์ เช่น ถ้าอากาศภายนอกเย็นจัด น้ำมันเครื่องก็ควรใส ไหลง่าย ในช่วงสตาร์ทเครื่องยนต์และยังไม่ร้อน ถ้าน้ำมันเครื่องหนืดเกินไปก็ไหลเวียนไม่ทัน และอาจทำให้เครื่องยนต์สึกหรอหรือพัง

    หากอากาศร้อนหรือเมื่อเครื่องยนต์ร้อนแล้ว แต่น้ำมันเครื่องใสเกิน ก็จะมีชั้นเคลือบบางเกินไป ทำให้เกิดการสึกหรอ และสิ้นเปลืองน้ำมันเครื่องจากการเล็ดลอดผ่านแหวนลูกสูบหรือยางหมวกวาล์วได้ น้ำมันเครื่องทุกชนิดสามารถแบ่งแยกได้อีกโดยเกรดความหนืด คือ เกรดเดี่ยว-เกรดความหนืดเดี่ยว (SINGLE GRADE) และเกรดรวม-เกรดความหนืดรวม (MUTI GRADE)

    น้ำมันเครื่องเกรดความหนืดเดี่ยว
    เรียกสั้นๆ ว่า น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในภูมิประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้อย เช่น ร้อนหรือเย็นไปเลย ทั้งกลางวันกลางคืนและในฤดูต่างๆน้ำมันเครื่องไม่สามารถปรับความหนืดให้เหมาะสมเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้ เช่น น้ำมันเครื่องเมืองหนาว ถ้านำมาใช้เมืองร้อนก็ใสเกินไปและไม่สามารถปรับตัวให้หนืดขึ้นได้ ส่วนน้ำมันเครื่องเมืองร้อน ถ้านำมาใช้เมืองหนาวก็ข้นเกินไป ไหลไม่ไหว และไม่สามารถปรับตัวให้ใสได้ จำเป็นต้องเลือกใช้ให้ตรงกับอุณหภูมิ เมืองร้อนจะเลือกใช้น้ำมันเครื่องของเมืองหนาวเกรดความหนืดเดี่ยวที่วัดและระบุเป็น SAE ?W ไม่ได้

    สำหรับน้ำมันเครื่องเมืองร้อน มีการผลิตและวัดความหนืดที่ 100 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวอักษรย่อ SAE ตามด้วยตัวเลขเปล่าๆ เช่น SAE 20น้ำมันเครื่องเมืองหนาว มีการผลิตและวัดความหนืดที่ -18 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวอักษรย่อ SAE ตามด้วยตัวเลขและอักษร W เช่น SAE 10Wปัจจุบันน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยวได้รับความนิยมน้อย เพราะผู้ผลิตหันไปทุ่มเทกับน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวมซึ่งสามารถจำหน่ายได้ทั่วโลกทั้งเมืองร้อนเมืองหนาว

    น้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวม
    เรียกสั้นๆ ว่า น้ำมันเครื่องเกรดรวม ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในภูมิประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากในแต่ละช่วงเวลาหรือฤดู หรือผลิตสูตรเดียวแต่สามารถจำหน่ายได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก น้ำมันเครื่องเกรดรวมสามารถปรับหรือคงความหนืดให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานทุกอุณหภูมิได้ เมื่อร้อนจะปรับตัวให้หนืด และถ้าเย็นลงจะปรับตัวให้ใส

    โดยมีการผลิตและวัดความหนืด ณ 2 อุณหภูมิ คือ ที่ -18 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวเลขตามหลังด้วยตัวอักษร W เช่น 10W และที่ 100 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวเลขเปล่าๆ เช่น 20 แล้วนำมาระบุรวมกันตามหลังตัวอักษรย่อ SAE โดยนำการวัดที่ -18 องศาเซลเซียสนำหน้าแล้วคั่นด้วยเครื่องหมาย - เช่น SAE 20W-50การผลิตน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวมให้สามารถปรับความหนืดได้ เมื่อร้อนแล้วหนืด เย็นแล้วใส ต้องมีการเติมสารปรับความหนืด ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้สารโพลีเมอร์ ที่เป็นโมเลกุลสายยาว เมื่อเย็นจะหดตัว น้ำมันเครื่องจึงใส ถ้าร้อนจะขยายและยืดตัวออก ทำให้น้ำมันเครื่องข้นขึ้น

    โพลีเมอร์ แม้จะทำให้น้ำมันเครื่องสามารถปรับความหนืดได้ แต่เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง โมเลกุลสายยาวของโพลีเมอร์มักจะขาดออกจากกัน เมื่อร้อนการขยายตัวจะน้อยลง และทำให้น้ำมันเครื่องมีความหนืดลดลงบ้าง ต่างจากน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดเดี่ยวในมาตรฐานเดียวกันซึ่งไม่มีการเติมสารโพลีเมอร์ จะคงความหนืดเมื่ออายุการใช้งานผ่านไปได้ดีกว่า

    ตัวเลขที่ระบุความหนืด ลงท้ายด้วยตัวอักษร W วัดที่ -18 องศาเซลเซียส ตามด้วยตัวเลขเปล่าๆ วัดที่ 100 องศาเซลเซียส เช่น SAE 10W-50 ยิ่งมีตัวเลขห่างกัน เช่น 10 กับ 50 เกินกว่า 35 (50-10) แสดงว่าน้ำมันเครื่องนั้นสามารถปรับความหนืดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้มาก ปรับตัวให้ใสหรือข้นได้มากแต่เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว ความหนืดของน้ำมันเครื่องเมื่อร้อนหรือประมาณ 100 องศาเซลเซียส มีแนวโน้มว่าจะลดลงได้เร็วกว่าน้ำมันเครื่องที่มีเลขเกรดความหนืดห่างกันน้อยๆ เช่น ตามตัวอย่างจากเดิม SAE 10W-50 ความหนืดอาจเหลือเทียบได้เป็น SAE 10W-40

    ปัจจุบันน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวมได้รับความนิยมทั้งในการผลิตและใช้งาน เพราะครอบคลุมทุกอุณหภูมิ ทั้งที่ในบางประเทศที่อุณหภูมิไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอย่างไทย สามารถเลือกใช้น้ำมันเครื่องเกรดความหนืดเดี่ยวได้ก็ตาม อากาศในไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20-35 องศาเซลเซียส และเครื่องยนต์ก็ร้อนมาก หากเลือกใช้น้ำมันเครื่องเมืองหนาว ไม่ว่าเกรดความหนืดเดี่ยวหรือรวม การวัดค่าความหนืดตามตัวอักษรย่อ SAE และลงท้ายด้วยตัวอักษร W ที่ -18 องศาเซลเซียส จะไม่เกี่ยวข้องและไม่ต้องสนใจ ให้ดูที่การระบุความหนืดด้วยตัวเลขเปล่าๆ เป็นหลัก

    การเลือกความหนืดของน้ำมันเครื่องให้ดูจากคู่มือประจำรถยนต์ แล้วใช้ให้ตรงตามกำหนด โดยเน้นเฉพาะตัวเลขที่ไม่ได้ตามด้วยตัวอักษร Wแต่ถ้าไม่มีคู่มือให้เลือกตามนี้ เมืองไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนมาก และไม่มีติดลบ สามารถเลือกใช้น้ำมันเครื่องทั้งแบบเกรดความหนืดเดี่ยวและเกรดความหนืดรวมสำหรับเมืองร้อน โดยสนใจค่าความหนืดเฉพาะค่า SAE ที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยตัวอักษร W เป็นความหนืด 40 หรือ 50

    เครื่องยนต์ใหม่ไม่เกิน 50,000-100,000 กิโลเมตร สามารถใช้น้ำมันเครื่องความหนืด SAE 40 ใสหน่อยได้ เพราะชิ้นส่วนยังไม่มีช่องว่างห่างมากนัก และอนุโลมให้ใช้ความหนืด 50 ได้ ส่วนเครื่องยนต์ที่เริ่มเก่าหรือผ่าน 100,000 กิโลเมตรไปแล้ว ควรใช้ความหนืด SAE 50

    หากเลือกใช้เองเป็นความหนืด SAE 40 ให้ดูด้วยว่ามีการกินน้ำมันเครื่องมากผิดปกติไหม (ไม่ควรเกิน 2,000-3,000 กิโลเมตรต่อน้ำมันเครื่อง 0.5-1 ลิตร) และมีควันสีขาวจากการเผาไหม้น้ำมันเครื่องที่เล็ดลอดเข้าห้องเผาไหม้ผสมออกมากับไอเสียหรือไม่ ถ้าผิดปกติให้เปลี่ยนไปใช้ความหนืด SAE 50

    เครื่องยนต์ที่ผ่านการใช้งานไปสักระยะหนึ่ง จะมีช่องว่างระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะแหวนลูกสูบ ลูกสูบ และกระบอกสูบ แม้จะใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดตามกำหนดในคู่มือประจำรถยนต์แล้ว ก็ควรดูว่าในการใช้งานจริงเครื่องยนต์มีการกินน้ำมันเครื่องผิดปกติไหม ถ้ามากควรเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดเพิ่มขึ้นสัก 10 เบอร์ เช่น เดิมใช้ SAE 30 ก็ขยับไปเป็น SAE 40 แล้วดูอาการซ้ำอีก ยังไม่ควรข้ามจาก SAE 30 ไปยัง SAE 50 หรือเปลี่ยนครั้งเดียวเพิ่มขึ้น 20 เบอร์ไปเลย

    เครื่องยนต์ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้ใช้น้ำมันเครื่องความหนืด SAE 40-50 ในช่วงแรก โดยมีรุ่นที่กำหนดให้ใช้ SAE 30 บ้างประปราย แต่เมื่อใช้งานเครื่องยนต์จนเกิน 100,000 กิโลเมตรไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็ควรเลือกใช้ SAE 40 หรือ 50 เพื่อให้ชั้นเคลือบของน้ำมันเครื่องหนาเหมาะสมกับระยะห่างของชิ้นส่วนต่างๆ

    การใช้มันเครื่องใสเกินไป ทำให้ชั้นเคลือบของน้ำมันเครื่องบางเกินไปจนเกิดการสึกหรอมาก แต่ก็ทำให้เครื่องยนต์และปั๊มน้ำมันเครื่องรับภาระน้อยลง เพราะน้ำมันเครื่องไหลง่าย เครื่องยนต์ก็หมุนง่ายไม่หนืด เครื่องยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันนิยมใช้ความหนืดของน้ำมันเครื่องพอดีๆ หรือใสไว้หน่อย เน้นกำลังของเครื่องยนต์โดยไม่กลัวการสึกหรอ แต่สำหรับการใช้งานทั่วไป ไม่ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องใสเกินไป เพราะจะเกิดการสึกหรอมาก แต่ก็ไม่ควรใช้หนืดเกินไป เพราะถึงแม้ชั้นเคลือบจะหนา แต่น้ำมันเครื่องไหลยากอาจหมุนเวียนไม่ทัน และสร้างภาระจนทำให้เครื่องยนต์กำลังตกลงได้

  4. #4
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Feb 2008
    User ID
    1303
    Status
    Offline
    โพส
    194

    มาตรฐาน Re: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    น้ำมันเครื่องปลอม & การเปลี่ยน อย่าเหนือห้องทดลองด้วยตาหรือปลายนิ้ว
    น้ำมันเครื่องปลอมหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ด้วยตาหรือการสัมผัส ต้องทดสอบในห้องทดลอง จึงควรซื้อในร้านหรือแหล่งที่ไว้ใจได้การตัดสินใจเปลี่ยนน้ำมันเครื่องไม่สามารถเดาได้เอง เช่น สีคล้ำ แตะนิ้ว น้ำมันเครื่องมีสีคล้ำเร็วเกิดจาก 2 กรณี คือ มีการชะล้างที่ดี หรือภายในเครื่องยนต์สกปรก น้ำมันเครื่องที่ดำช้ามี 2 กรณี คือ ชะล้างไม่ดี หรือภายในเครื่องยนต์สะอาด (ไม่ค่อยเป็นไปได้) สีของน้ำมันเครื่องไม่สามารถสรุปได้ว่าคุณสมบัติด้านอื่นยังคงอยู่หรือเปล่า

    การดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องขึ้นมาแล้วใช้ปลายนิ้วแตะเพื่อวัดความหนืด ไม่มีความชัดเจน เพราะการวัดความหนืดและประสิทธิภาพด้านอื่นต้องเข้าห้องทดลอง ความรู้สึกของปลายนิ้วไม่สามารถบอกว่าน้ำมันเครื่องนั้นสามารถสร้างชั้นเคลือบได้ดีหรือไม่ ไฉนแค่ปลายนิ้วสัมผัสจะเก่งกว่าห้องทดลองอันแม่นยำ

    เมื่อไหร่น้ำมันเครื่องเสื่อม
    มิได้เสื่อมได้ด้วยระยะทางเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับ 3 อย่าง คือ ระยะทาง ลักษณะการใช้งาน และเวลา

    ระยะทาง
    เกี่ยวข้องกับชนิดของน้ำมันเครื่องเป็นหลัก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นด้วยน้ำมันเครื่องชนิดสังเคราะห์ใช้งานได้ระยะทางมากกว่า โดยเฉลี่ยใช้งานทั่วไปได้ 10,000 กิโลเมตร ชนิดธรรมดา 5,000 กิโลเมตร และแบบกึ่งสังเคราะห์อยู่กึ่งกลาง คือ 5,000-7,000 กิโลเมตร

    โดยผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดระยะทางใช้งานไว้มากกว่านี้ แต่การแนะนำข้างต้นได้ประยุกต์ลดลงมา ด้วยเหตุผลอันแตกต่างสำหรับการใช้งานในเมืองไทย และอ้างอิงตามกำหนดของศูนย์บริการทั่วไป

    ลักษณะการใช้งาน
    ส่งผลโดยตรงและเกี่ยวข้องกับระยะทางที่ใช้น้ำมันเครื่อง

    การจราจรติดขัดในไทย เครื่องยนต์ยังทำงาน น้ำมันเครื่องยังหมุนเวียน แต่ระยะทางเพิ่มขึ้นน้อยมาก 1 ชั่วโมงอาจได้ระยะทางเพียง 5-10 กิโลเมตร แต่การขับรถยนต์เดินทางไกลหรือในต่างประเทศ 1 ชั่วโมงน่าจะได้ระยะทาง 30-50 กิโลเมตร

    การใช้รถยนต์ในกรุงเทพฯ หรือการจราจรติดขัดมาก ควรเฉลี่ยลดระยะทางในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องลงจากมาตรฐานในต่างประเทศบ้างน้ำมันเครื่องชนิดสังเคราะห์จาก 10,000-20,000 กิโลเมตร เหลือ 8,000-10,000 กิโลเมตร ชนิดกึ่งสังเคราะห์จาก 10,000-14,000 กิโลเมตร เหลือ 5,000-7,000 กิโลเมตร และชนิดธรรมดาจาก 10,000 กิโลเมตร เหลือ 3,000-5,000 กิโลเมตร

    แต่ถ้าใช้งานบนการจราจรติดขัดไม่มาก หรือสลับระหว่างการจราจรติดขัดกับทางไกล ก็เพิ่มระยะทางที่เหมาะสมขึ้นได้ ส่วนเส้นทางที่เต็มไปด้วยฝุ่นก็ลดทอนระยะทางที่เหมาะสมลงบ้าง เพราะฝุ่นที่เล็ดลอดผ่านไส้กรองอากาศเข้าไปในกระบอกสูบ จะเล็ดลอดผ่านแหวนลูกสูบลงไปผสมกับน้ำมันเครื่องได้
    เวลา
    รถยนต์บางคันจอดมากกว่าใช้งานน้ำมันเครื่องสามารถเสื่อมลงได้แม้เครื่องยนต์ไม่ค่อยถูกใช้งาน เพราะมีการทำปฏิกิริยากับอากาศมากบ้าง น้อยบ้าง แม้ระยะทางไม่ครบกำหนด น้ำมันเครื่องสังเคราะห์และกึ่งสังเคราะห์ควรเปลี่ยนทุก 6-9 เดือน และน้ำมันเครื่องธรรมดาไม่เกิน 6 เดือน

    น้ำมันเครื่องที่เหลือในกระป๋องต้องปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่แห้งและไม่ร้อนมาก จะคงสภาพได้ประมาณ 1-2 ปี

    จบแล้วครับ

    ***ขอขอบคุณเจ้าของบทความด้วยครับ"ariwa54"เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ***

  5. #5
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Jan 2009
    User ID
    4962
    Status
    Offline
    โพส
    1,395

    มาตรฐาน Re: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    ขอบคุณค้าบ

  6. #6
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Mar 2009
    User ID
    5724
    Status
    Offline
    โพส
    1,177

    มาตรฐาน Re: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    ปักหมุดเลยครับ....อ่านจนตาลายยังไม่จบ..นับว่ามีประโยชน์มากมายเลย....

  7. #7
    สมาชิกถาวร TTC-Member
    สมัครเมื่อ
    Mar 2009
    User ID
    5724
    Status
    Offline
    โพส
    1,177

    มาตรฐาน Re: ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

    ปักหมุดเลยครับ....อ่านจนตาลายยังไม่จบ..นับว่ามีประโยชน์มากมายเลย....

ข้อมูลกระทู้

Users Browsing this Thread

ในขณะนี้มี 1 ท่านดูกระทู้อยู่. (0 สมาชิกและ 1 ผู้เยี่ยมชม)

Bookmarks

กฎการโพสข้อความ

  • ท่าน ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
  • ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
  • ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขข้อความโพสได้
  •  
  • BB code สถานะ เปิด
  • Smilies สถานะ เปิด
  • [IMG] สถานะ เปิด
  • [VIDEO] code is เปิด
  • HTML สถานะ ปิด